ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน
“เมื่อดำเนินการจัดทำเสร็จสมบูรณ์ Bangkok Risk Map ก็คือแผนที่ที่จะทำให้เรารู้ว่าตรงไหนของกทม.มีความเสี่ยงอันตราย มีความไม่ปลอดภัยที่อาจจะหลงเหลือ ให้เรารีบแก้ไข”
เป็นการขยายความของ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. หลัง “ทีมข่าวชุมชนเมือง” สอบถามความคืบหน้าการจัดทำ Bangkok Risk Map ซึ่งถูกพูดถึงตั้งแต่แรกเข้ามาบริหารงาน ในนโยบาย “ปลอดภัยดี”
สำหรับแผนที่ความเสี่ยงดังกล่าว น.ส.ทวิดา ระบุ เป็นการจัดทำเพื่อให้การบริหารจัดการความปลอดภัยรอบด้าน แม่นยำที่สุดทั้งระยะเตรียมความพร้อม การระงับเหตุ ไปจนถึงการช่วยเหลือเยียวยา การพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย หรือ Bangkok Risk Map เป็น 1 ใน 216 นโยบายที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการเห็นเมืองและคนที่อาศัยมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งก็สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพฯ ปี 62 ที่เขียน Bangkok Risk Map ไว้แล้วเช่นกัน
“อย่างที่ทราบคือตั้งแต่คณะผู้บริหารเข้ามาทำงานก็เจอกับสาธารณภัยต่าง ๆ ทั้งอัคคีภัย โควิด น้ำท่วม จึงทำให้เห็นว่า หากเราบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ บนพื้นฐานที่ไม่รู้จริงเกี่ยวกับข้อมูลจะทำให้การตัดสินเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นไปได้ยาก”
ดังนั้น การจัดทำ Bangkok Risk Map จึงไม่ได้เป็นเพียงลงข้อมูลแค่เรื่องแผนที่กับโลเกชั่นเท่านั้น แต่ยังสามารถลงข้อมูลอื่น ๆกำกับไว้ได้ด้วย เช่น จุดที่เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้งและมีสาเหตุจากอะไร, จุดเสี่ยงน้ำท่วม, จุดเสี่ยงจุดเปลี่ยวที่เกิดอาชญากรรมบ่อยครั้ง, จุดเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือจุดที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง, จุดเก็บสารเคมี เป็นต้น
ข้อมูลเหล่านี้ กทม. มีอยู่แล้วแต่แยกอยู่ละหน่วยงานไม่ได้มีการรวบรวมนำมาไว้ในแผนที่เดียวกัน จึงมีความเห็นว่าควรจะนำข้อมูลเหล่านี้ มารวมไว้ในแผนที่เดียว เพื่อประโยชน์ในการเรียกดูข้อมูล นำไปช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ตรงจุด และรวดเร็ว โดยใช้ “One Map” ของสำนักผังเมืองเป็นพื้นฐาน
จากนั้นก็ให้แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลของตนเองที่มีอยู่มาลงไว้ในแผนที่นี้ และเมื่อข้อมูลลงซ้อนทับกัน อาจทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า บางพื้นที่ บางชุมชน มีอันตรายหลายเรื่องซ้อนทับมากเกินไป
เบื้องต้น น.ส.ทวิดา กล่าวว่า จะทำข้อมูลนำร่องจากภัย 5 ประเภท โดยเลือกจาก “ความถี่” ในการเกิดภัยนั้น ๆ ประกอบด้วย อัคคีภัย, จุดวิกฤติเสี่ยงน้ำท่วม, การจราจร-อุบัติเหตุ, อาชญากรรมและสารเคมี รวมทั้งเริ่มลงข้อมูลชุมชนหนาแน่น ซึ่งปัจจุบันกทม.มีชุมชนที่จดทะเบียนจัดตั้งอย่างถูกต้อง 2,017 ชุมชน โดยมีชุมชนที่เข้าข่ายหนาแน่น เพราะมีทางเข้า-ออกไม่สะดวก ประมาณ 419 ชุมชน
เมื่อนำข้อมูลของชุมชนหนาแน่นซ้อนทับกับจุดที่เกิดภัย ต่าง ๆ ที่ลงแผนที่ไว้ล่วงหน้า จะทำให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า บางชุมชนอาจมีหลายปัญหาซ้อนทับกันอยู่ หรือจุดไหนคือจุดวิกฤติที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง หรือสารเคมีบางประเภทที่เป็นอันตราย แต่ดันถูกเก็บอยู่ใกล้ชุมชน หากเรามีข้อมูลพื้นฐานอยู่บ้างจากการจัดเก็บนั้น จะทำให้การเข้าไปช่วยเหลือตอบโต้สถานการณ์ง่ายขึ้น การที่เราเห็น Risk Map จะทำให้เรากำหนดมาตรการช่วยเหลือทั้งกำลังคน ทั้งงบประมาณ ได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
“Bangkok Risk Map จึงไม่ได้มีไว้แค่ เมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้วเราจะไปทำอะไร แต่มีไว้เพื่อใช้ตัดสินใจมาตรการป้องกัน ลดผลกระทบเพื่อไม่ให้ภัยเกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นก็มีผลกระทบน้อยที่สุดและหากมีข้อมูลเป็นเรียลไทม์ได้จะยิ่งดีมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมาย โดยจะพยายามเร่งให้แล้วเสร็จภายในต้นปีหน้า ตัวอย่างที่ กทม.ทดลองทำช่วงน้ำท่วม จนทำให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วในบางจุด ก็คือนำข้อมูล 2 ด้านมาชนกัน เปิดเผยให้ประชาชนทราบผ่านช่องทางโซเชียลคือ 1.ช่วงเช้าก่อนออกจากบ้านอัพเดทสถานการณ์พื้นที่ไหนยังมีน้ำท่วมขัง จุดไหนน้ำแห้ง/ช่วงก่อนเลิกงานก็แจ้งข้อมูลให้ทราบ รวมทั้งอัพเดทเพิ่มเติมในช่วงกลางคืน และ 2.ให้ประชาชนเห็นภาพเรียลไทม์จากกล้อง CCTV ของ กทม.ในจุดที่มีน้ำท่วมขัง
“ตอนนี้หากกาง Bangkok Risk Map ดู ก็จะเห็นพื้นที่ทั้ง 50 เขตถูกซ้อนทับจุดชุมชนหนาแน่นสูงว่าอยู่ตรงไหน สถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขอยู่ตรงจุดใด จุดที่มีประปาหัวแดงอยู่บริเวณไหน รวมทั้งในอนาคต One map ชิ้นนี้จะทำให้เห็นพื้นที่ว่าง พื้นที่ที่จะสามารถจัดทำเป็นสวน 15 นาที หรือมีพื้นที่ตรงจุดใดสามารถเพิ่มพื้นที่สีขียวได้ เราก็จะเห็นพื้นที่ทั้งหมดและรู้ว่าควรเริ่มจากจุดใดก่อน”
เป็นไอเดียตัวอย่างที่ไม่เพียงในเมืองหลวง แต่หากทุกพื้นที่เห็นฐานปัญหายิ่งชัด ก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการแต่ละอย่างมากขึ้น.
บรรยายใต้ภาพ
ทวิดา กมลเวชช
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2565