(22 ก.ค. 66) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์เกี่ยวกับปัญหาในกรุงเทพมหานครที่ประชาชนต้องการให้แก้ไข ในรายการวีเทรนด์วาไรตี้ ช่วงสัมภาษณ์คนดัง สถานีวิทยุเซ็นเตอร์เรดิโอ FM 104.50 MHz. วิทยุท้องถิ่นไทยจังหวัดอ่างทอง โดยมีนายสมศักดิ์ ธีระนิธิ หรือ ดีเจ เล็ก วิเศษ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีการพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. เรื่อง กล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ CCTV
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีกล้อง CCTV ประมาณกว่า 60,000 ตัว และจะมีการเพิ่มจำนวนอีกประมาณ 5,000 ตัว ภายในปี 2569 ทั้งนี้ได้เชื่อมข้อมูลภาพไปยังศูนย์ CCTV 13 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ CCTV ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และศูนย์ฯ ที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานเขตต่าง ๆ อีก 12 แห่ง คือ เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตพระโขนง เขตบางคอแหลม เขตมีนบุรี เขตบึงกุ่ม เขตบางพลัด เขตจอมทอง เขตบางบอน และเขตราษฎร์บูรณะ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาบริการคัดลอกข้อมูลภาพจากระบบกล้อง CCTV เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน โดยประชาชนสามารถรับบริการแบบออนไซต์ (Onsite) ที่ศูนย์ CCTV ทั้ง 13 แห่งข้างต้น หรือรับบริการแบบออนไลน์ (Online) ตลอด 24 ชั่วโมง ทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th หรือทางไลน์ @CCTVBANGKOK โดยผู้ขอจะต้องยื่นหลักฐาน ประกอบด้วย 1. บันทึกประจำวันหรือหนังสือของสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ 2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ 3. กรณีมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบ และควรดำเนินการขอข้อมูลภาพอย่างเร่งด่วนหลังจากเกิดเหตุ เพื่อป้องกันการไม่ได้รับภาพเนื่องจากการบันทึกภาพทับ
2. เรื่อง ไฟฟ้าแสงสว่าง
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ทยอยเปลี่ยนหลอดไฟเดิมซึ่งเป็น HPS (Highpressure Sodium) เป็นหลอดไฟแบบ LED โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งคุณภาพของแสงดีกว่า และมีอายุการใช้งานนานขึ้น
3. เรื่อง การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การนำสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงใต้ดินเป็นนโยบายที่กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยความสะดวกและประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมดำเนินการปรับปรุงทางเท้า ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้ดำเนินโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ส่วน กสทช. จะเป็นผู้จัดทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน
4. เรื่อง ค่าครองชีพและเศรษฐกิจ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายในการหาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือจัดทำเป็นศูนย์อาหาร Hawker Center เพื่อให้ทางเท้ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ค้ามีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และประชาชนจับจ่ายใช้สอยได้สะดวก ราคาเหมาะสม รวมถึงยังมีการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) และเศรษฐกิจระดับย่าน โดยมีตลาดนัดชุมชน 103 แห่ง ตลาดนัดเขต 85 แห่ง ถนนคนเดินใน 26 เขต ตลาดนัดเกษตรกร (Farmer Market) อีก 50 แห่ง ครอบคลุม 50 เขต
5. เรื่อง การจราจร
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องการจราจรเป็นเรื่องที่มีผู้รับผิดชอบร่วมกันหลายภาคส่วน อาทิ กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น โดยนโยบายของกรุงเทพมหานครได้มีการสำรวจจุดฝืดบนท้องถนน และดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการกวดขันวินัยจราจร รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้งดจอดแช่/กีดขวางการจราจร ปรับปรุงในเชิงกายภาพ เพิ่มที่จอดแล้วจรและจุดจอดจักรยาน นำเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการไฟจราจร รวมถึงส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง
6. เรื่อง น้ำเน่าเสียในคลอง
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการจัดการน้ำเสีย กรุงเทพมหานครมีนโยบายมุ่งเป้าติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทาง โดยสำรวจตลาดของกทม. 12 แห่ง พบว่าระบบบำบัดน้ำเสียใช้งานได้ดี 3 แห่ง ดำเนินการปรับปรุง 9 แห่ง ในปี 2567 และสำรวจตลาดเอกชน พร้อมกวดขันให้ผู้ประกอบการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้ยังมีนโยบายติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน (Onsite Treatment) ทบทวนแผนก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียรวมและ เชื่อมต่อท่อรวบรวมน้ำเสียที่มีอยู่เดิม
7. เรื่อง สุขภาพจิต
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยประชาชนที่ต้องเผชิญภาวะความตึงเครียดในด้านต่าง ๆ จึงมีบริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง มีคลินิกจิตเวช ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และมีการตรวจประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตเบื้องต้นในศูนย์บริการสาธารณสุข
8. เรื่อง คนไร้บ้าน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับการจัดระเบียบคนไร้บ้านบริเวณถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานครโดยสำนักงานเขตพระนครได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด พร้อมประชาสัมพันธ์จุดแจกอาหารแก่คนไร้บ้านที่กรุงเทพมหานครจัดให้เป็นจุด Drop in จำนวน 2 จุด ได้แก่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และ บริเวณตรอกสาเก เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของอาหาร อาบน้ำ ซักผ้า ตัดผม การให้คำปรึกษาแนะนำสวัสดิการ การตรวจสุขภาพ การจ้างงาน การจัดทำบัตรประชาชน การย้ายสิทธิ์การรักษาพยาบาลให้เหมาะสม การส่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หรือการส่งกลับภูมิลำเนา ตลอดจนเตรียมเปิดบ้านอิ่มใจ เพื่อเป็นที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน
9. เรื่อง การจับปรับผู้ถือหรือติดตั้งป้ายโฆษณา รถแห่
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเข้มงวดกวดขันในเรื่องป้ายโฆษณา เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย เนื่องจากการตั้ง วาง ป้ายโฆษณาตามถนนหรือพื้นที่สาธารณะ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งรวมถึงการถือป้ายโฆษณาเพื่อเลี่ยงการขออนุญาตติดตั้งป้าย ส่วนการใช้รถประชาสัมพันธ์หรือรถแห่ต่าง ๆ ก็ต้องมีการขออนุญาตโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงอย่างถูกต้องด้วย ฉะนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนหรือผู้ประกอบการดำเนินการให้ถูกต้อง อะไรที่ขัดต่อกฎหมายไม่ควรทำ
“กรุงเทพมหานครต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่แจ้งปัญหาเข้ามาเพื่อให้เราเข้าไปแก้ไขและสามารถดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุดได้ รวมถึงขอขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะในการพัฒนาปรับปรุงเรื่องต่าง ๆ เพื่อทำกรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป สุดท้ายนี้ หากประชาชนมีข้อเดือดร้อนหรือข้อเสนอแนะสามารถแจ้งได้ที่ Traffy Fondue หรือโทร. สายด่วน 1555” ปลัด กทม. กล่าว
ติดตามรับฟังย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/centerradio.ang/videos/512716197676294/
—————————