(21 ก.ค.66) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษเรื่อง “การเป็นผู้นำในยุค Next Normal” ตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนัก ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสำนักงาน ก.ก. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ร่วมรับฟังการบรรยาย ณ ห้องทานตะวัน อาคาร 3 ชั้น 2 ศูนย์การเรียนรู้มหานคร เขตหนองจอก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราดูแลครอบครัวได้ไม่ดีก็ยากที่จะทำงานใหญ่ได้ บทเรียนแรกที่สำคัญคือการดูแลสิ่งสำคัญในชีวิตก่อน ด้วยการบริหารจัดการเวลา ทุกคนล้วนมีโหลแก้ว 1 ใบคือมีเวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วันเท่ากัน ให้เรานำของสำคัญ 3 สิ่ง เข้าไปในโหลแก้ว คือ ก้อนหิน ดิน และกรวดทราย การเป็นผู้บริหารที่ดีได้คือการเลือกเอาก้อนหินซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตลงไปในโหลแก้วให้ได้ก่อน เช่น สุขภาพที่ดี การงาน ครอบครัว และการแสวงหาความรู้ ชีวิตเราจะมีความมั่นคงและหนักแน่น จากนั้นค่อยนำดินซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตรองลงมา และกรวดทรายซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุดใส่เข้าไปในโหลแก้วเป็นลำดับสุดท้าย
การบริหารงานเป็นผู้นำยุค Next Normal เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart City สิ่งสำคัญที่สุด คือความไว้วางใจ การที่จะเป็นผู้นำคนอื่นได้นั้น เริ่มต้นจากการได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น และควรรักษาความไว้วางใจนี้ให้เท่าชีวิต เนื่องจากเมื่อสูญเสียไปแล้วจะสามารถนำกลับมาเหมือนเดิมได้ยากมาก ดังนั้นหน้าที่สำคัญของผู้อำนวยการเขตและผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคือการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแสดงให้เห็นด้วยการกระทำและส่งผลต่อการทำงาน เมื่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชนแล้วความเร็วในการทำงานจะเพิ่มขึ้นและต้นทุนการทำงานจะลดลง โดยสิ่งสำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจได้คือ การมีความประพฤติที่ดี และมีความสามารถที่ดีควบคู่กัน นอกจากนี้ยังต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาให้ก้าวทันโลก ระบบราชการจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน
“ทรัพย์สินที่เราหามาได้ในชีวิตเหมือนโอ่งน้ำบริสุทธิ์ 1 โอ่ง ซึ่งสามารถดื่มได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต นั่นคือทรัพย์สินที่เราหามาได้ด้วยความสุจริต ดังนั้นถ้าหากมีน้ำเสียเพียงหยดเดียวคือ ทรัพย์สินที่ได้มาด้วยความทุจริต หยดเดียวลงไปในโอ่ง ก็จะทำให้น้ำบริสุทธิ์ทั้งโอ่งไม่สามารถดื่มได้ นั่นก็คือชื่อเสียงทั้งหมดที่เราสะสมมาทั้งชีวิตสูญเสียไป และยังส่งผลถึงการดำเนินชีวิตและครอบครัวอีกด้วย ดังนั้น จึงอย่ามองเพียงแค่ประโยชน์ของตนเอง แต่ให้มองถึงผู้อื่นที่ได้รับผลกระทบด้วย แล้วจะทำให้เราเป็นที่ไว้วางใจของทุกหน่วยงานและสามารถอยู่ในสังคมได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงส่วนหนึ่งของการเป็นผู้นำที่ดี
ในส่วนของ Smart City คือการทำให้เมืองเท่าทันเทคโนโลยี หัวใจสำคัญคือการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสามารถของคน หรือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาสร้างผลผลิตให้เมืองและให้คน โดยยึดการดำเนินชีวิตของคนเป็นหลักแล้วนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาสนับสนุน ตัวอย่างเช่น Traffy Fondue ที่ใช้แก้ปัญหาระบบราชการแบบเก่าที่ทำงานด้วยระบบท่อ คือการมอบหมายงานไปตามระบบราชการซึ่งแต่ละเรื่องที่ร้องเรียนมาดำเนินการได้ช้ามาก ปัจจุบันในภาคเอกชนไม่มีระบบนี้แล้ว ในภาคเอกชนจะใช้ระบบ Platform คือ โยนเรื่องและปัญหา ทั้งหมดไปที่กระดาน แล้วให้คนที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนรับผิดชอบรับเรื่องไปดำเนินการ โดยข้อดีของระบบ Platform ดังกล่าวคือความโปร่งใส เนื่องจากทุกคนเห็นเรื่องทั้งหมดบนกระดาน ซึ่งระบบดังกล่าวในปัจจุบันทำให้กทม.กระตือรือร้นมากขึ้น จนสามารถแก้ไขปัญหาได้กว่า 245,000 เรื่อง จาก 337,000 เรื่อง นี่คือตัวอย่าง Smart City อย่างแท้จริง และประสบความสำเร็จเนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
เรื่องต่อไปของ Smart City คือการบริหารจัดการข้อมูลซึ่งต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ และสามารถนำมาจัดเป็นระบบหมวดหมู่ได้ง่ายขึ้น จนนำมาซึ่งสถิติเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการในปัจจุบัน และยังสามารถรับปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยังสามารถทำงานนอกเหนือเวลาราชการได้ นอกจากนี้ยังสามารถประมวลผลออกมาเป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานได้อีกด้วย
นอกเหนือจากนี้ การเป็นผู้นำที่ดีในยุค Next Normal คือ การปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่าง ดังนั้นการเป็นผู้อำนวยการเขตและผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต จึงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้กับบุคลากรของกรุงเทพมหานคร รวมถึงร่วมทุกข์ร่วมสุขในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่เขต การลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจบุคลากรที่ปฏิบัติงานก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากบุคลากรเหล่านั้นคือข้อต่อข้อสุดท้ายที่จะเชื่อมนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครไปสู่ประชาชน หากบุคลากรขาดกำลังใจแล้ว การทำงานไปสู่ประชาชนก็ไม่สามารถจะเกิดประสิทธิภาพได้ ดังนั้นจึงต้องลงพื้นที่เพื่อสอบถามปัญหาจากบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม”ผู้ว่าฯสัญจร” อีกด้วย ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สอบถามปัญหาต่าง ๆ จากบุคลากรในระหว่างมื้ออาหารกลางวัน
“การเป็นผู้นำหรือผู้บริหารคือ บุคคลที่มีความสามารถและได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาและจากประชาชน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำงานได้มากกว่าที่ประชาชนคาดหวัง ประชาชนสั่งให้เราทำ 1 เราต้องทำ 10 โดยต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์คิดเพิ่มเติมจากสิ่งที่ประชาชนต้องการ ที่สำคัญช่วงนี้คือต้องแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจให้กับประชาชน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
ซึ่งในวันเดียวกันนี้ เวลา 08.30 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต และร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “การเป็นผู้นำในยุค Next Normal”
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่ากรุงเทพมหานครมีหน้าที่สำคัญ ในการให้บริการประชาชน ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยเหลือสนับสนุนการบริหารงานของผู้อำนวยการเขต ในการให้บริการและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครสู่ประชาชนได้โดยตรงกรุงเทพมหานครจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตให้มีศักยภาพสามารถช่วยผู้อำนวยการเขตในการบริหารงานได้ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จุดมุ่งหมายประการสำคัญของการฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคือ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายผู้บริหารกรุงเทพมหานครไปสู่การปฏิบัติในการพัฒนางานเขต เสริมสร้างทักษะการเป็นผู้นำในการเป็นนักบริหารงานเขตให้สามารถบริหารงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาและการให้บริการของกรุงเทพมหานคร สำนักงาน ก.ก.ได้จัดให้มีโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ทักษะการเป็นนักบริหารงานเขต ตลอดจนการนำเทคนิคจากท่านวิทยากรไปปรับใช้ในการบริหารงาน รวมทั้งการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภารกิจที่รับผิดชอบและการบริหารของกรุงเทพมหานครต่อไป
“แต่ก่อนคนมองกรุงเทพมหานคร(กทม.) ว่าเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ ที่ไม่พิเศษจริงอย่างชื่อ แต่ในปีที่ผ่านมามีหลายหน่วยงาน อาทิ องค์กรระหว่างประเทศ กพร. หน่วยงานรัฐบาลระดับกระทรวง ชื่นชมกทม. มากขึ้นและยกย่องให้เป็นต้นแบบในการทำงานในรูปแบบที่มีความก้าวหน้าสูงมาก จึงอยากสะท้อนว่านี่ไม่ใช่ผลงานของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แต่เป็นผลงานของบุคลากรทุกคน โดยเฉพาะสำนักงานเขตที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ที่ปลายทาง เป็นเฟืองจักรสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสู่พี่น้องประชาชน” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในการบรรยาย
ทั้งนี้ การฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายผู้บริหารกรุงเทพมหานครไปสู่การปฏิบัติในการพัฒนางานเขต เสริมสร้างทักษะการเป็นผู้นำในการเป็นนักบริหารงานเขต มีสมรรถนะในการเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตและผู้อำนวยการเขต เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติงานและเครือข่ายในการติดต่อประสานงาน ซึ่งสํานักงาน ก.ก. ดำเนินการฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ลักษณะการฝึกอบรมเป็นแบบพักค้าง จำนวน 3 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค 66 ณ ศูนย์การเรียนรู้มหานคร เขตหนองจอก กลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ไม่รวมผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 90 คน การฝึกอบรมในครั้งนี้ได้นำสมรรถนะเฉพาะสำหรับตำแหน่ง Functional Competencies ของผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต และหัวหน้าฝ่ายในสังกัดสำนักงานเขตมาใช้ในการออกแบบการฝึกอบรม โดยแบ่งหัวข้อรายวิชาออกเป็น 5 วิชา ดังนี้ 1. การเป็นผู้นำในยุค Next Normal 2. การบริหารเชิงพื้นที่ 3. โครงสร้างอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขต ปัจจุบันสู่อนาคต 4. การเสริมสร้างศักยภาพการเป็นผู้บริหารงานเขตและการขับเคลื่อนโยบายสู่การปฏิบัติ และ 5. การสื่อสารประชาสัมพันธ์และการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบาย
#โปร่งใสดี