(19 ก.ค.66 ตามเวลาท้องถิ่นราชอาณาจักรสวีเดน)นางชญาดา วิภัตภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่หนึ่ง ในฐานะผู้แทนสภากรุงเทพมหานคร นำคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเข้าเยี่ยมคาราวะ นายเล็นนัท รอสวิล (Lennart Taswill) นายกเทศมนตรีเมืองรากุนด้า ราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือสภาบ้านพี่เมืองน้อง ในประเด็นเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในสวีเดน โดยมี นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตไทย ประจำราชอาณาจักรสวีเดน ร่วมรับฟังด้วย
เนื่องด้วยเมืองรากุนด้ากำลังประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปี มากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ ประกอบกับพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีวุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่ผ่านมารัฐบาลของสวีเดนจึงได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยเฉพาะในด้านการพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
โอกาสนี้ คณะส.ก.ได้ให้ความสนใจและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนนักเรียนไทยในรากุนด้า และสวัสดิการที่ผู้ที่ทำงานในสวีเดนจะได้รับ โดยผู้บริหารเมืองรากุนด้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันผู้ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลจะได้รับเงินเดือนประมาณ 23,000 โครนา แต่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ 33-35 % ขึ้นกับเมืองที่ตั้ง ซึ่งผู้ที่ทำงานจะได้รับสวัสดิการเบื้องต้น อาทิ การศึกษาและการสาธารณสุข โดยได้รับรักษาพยาบาลฟรีทั้งครอบครัว ทั้งนี้ผู้ที่ทำงานต้องได้รับวีซ่าถูกต้อง ซึ่งแรงงานชาวไทยเป็นที่ต้องการของเมืองเป็นอย่างมาก
ด้านนางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข สภากรุงเทพมหานคร ได้สอบถามความเป็นไปได้ของนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรจากประเทศไทยและสนใจจะมาทำงานที่สวีเดน เนื่องจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชของกรุงเทพมหานคร มีหลักสูตรสำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ซึ่งคณะเมืองรากุนด้าได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่จบการอบรมหลักสูตรจากประเทศไทยจำเป็นต้องผ่านมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขของสวีเดนกำหนดด้วย อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญคือเรื่องภาษาเนื่องจากผู้สูงอายุชาวสวีเดนส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้
“ด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ด้านขณะนี้ ถึงแม้จะนักเรียนไทยจะผ่านหลักสูตรการอบรมแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานไทยของไทยในเรื่องอื่นๆด้วย จึงจำเป็นจะต้องคิดให้รอบคอบและกว้างมากขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องระดับชาติในฐานะประธานฯ จึงขอเชิญคณะฯจากเมืองรากุนด้าเดินทางไปเยี่ยมชมหลักสูตรการฝึกอบรมในเมืองไทย เพื่อเชื่อมโยงและแก้ปัญหาแรงงานในสวีเดนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” นางกนกนุช กล่าว
สำหรับคณะส.ก.ที่ร่วมการหารือในครั้งนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจและแผนการทำงานร่วมกันในอนาคต ประกอบด้วย นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล ส.ก.เขตธนบุรี (ประธานคณะกรรมการกิจการสภา) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง (ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข) นายณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว (ประธานคณะกรรมการการศึกษา) นายสารัช ม่วงศิริ ส.ก.เขตบางขุนเทียน (คณะกรรมการการศึกษา) นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม (รองประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง คนที่1 และคณะกรรมการการสาธารณสุข) นางลักขณา ภักดีนฤนาท ส.ก. ตลิ่งชัน (รองประธานคณะกรรมการการศึกษา คนที่ 2) นายณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ ส.ก.เขตบางบอน (รองประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง คนที่ 2) นางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ส.ก.เขตป้อมปราบฯ (คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภากรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้อง กับสภาเทศบาลรากุนดาแห่งราชอาณาจักรสวีเดน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 เพื่อแลกเปลี่ยนและให้ความร่วมมือฉันท์บ้านพี่เมืองน้องในด้านสังคม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรเอกชนและกลุ่มประชาชนหรือสมาคมจากทั้งสองเมือง
จากนั้น ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 กรุงเทพมหานครได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปทำงาน ณ ราชอาณาจักรสวีเดน ร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยบันทึกข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินโครงการนำร่องจัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุไปทำงาน ณ ราชอาณาจักรสวีเดน ภายใต้กรอบภารกิจของหน่วยงาน ดังนี้
1.กรุงเทพมหานคร ประสานงานกับนายจ้างที่ราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อให้นายจ้างแจ้งความประสงค์การจ้างงาน และมอบอำนาจให้กระทรวงแรงงานจัดหาลูกจ้างให้ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย
2.กรุงเทพมหานคร จัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษาหรือทักษะอืานที่จำเป็นในการทำงานแก่ผู้ประสงค์จะไปทำงานดูแลผู้สูงอายุ
3.กระทรวงแรงงาน อำนวยความสะดวกในการตรวจสุขภาพ จัดทำหนังสือเดินทาง รวมถึงเอกสารการอนุญาตให้เดินทางเข้าไปทำงานในราชอาณาจักรสวีเดน (วีซ่า) หรือเอกสารอื่นๆ ให้กับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ผ่านการทดสอบและคัดเลือกจากนายจ้าง โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารดังกล่าว
————