(19 ก.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ประกอบด้วย
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าตึกเมืองไทยภัทร ถนนรัชดาภิเษก เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 16 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 189 ราย ดังนี้ 1.ถนนสุทธิสารวินิฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 15 ราย 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT รัชดาภิเษก ผู้ค้า 6 ราย 3.ถนนสุทธิสาร ปากซอยอุดมสุข ผู้ค้า 12 ราย 4.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร ผู้ค้า 28 ราย 5.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/ไทยภัทร ผู้ค้า 7 ราย 6.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT ห้วยขวาง ผู้ค้า 11 ราย 7.ถนนพระราม 9 ซอย 5 ผู้ค้า 6 ราย 8.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 8 ราย 9.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 8 ราย 10.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 8 ราย 11.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 8 ราย 12.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคาร MSIG ผู้ค้า 5 ราย 13.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 13 ราย 14.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 19 ราย 15.ถนนเทียมร่วมมิตร (ขาออก) ผู้ค้า 7 ราย และ 16.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 ผู้ค้า 28 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่ในการจัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์อาหารตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. รองรับผู้ค้าได้ 80 ราย และศูนย์การค้า Show DC ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-10.00 น. รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำแนวเส้นที่กำหนดไว้ รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์และทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ยุบรวมเป็นจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตห้วยขวาง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวันและต้องไม่รวมเวลารอคอย ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน หากชำรุดเสียหายให้จัดหาเครื่องใหม่มาทดแทน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับการบริการ
จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 26,796 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 28,381 แห่ง ห้องชุด 58,662 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 113,839 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในสำนักงานเขตห้วยขวาง มีข้าราชการและบุคลากร 708 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ จัดกิจกรรมรณรงค์การจัดการขยะที่ต้นทาง ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ทิ้งขยะรีไซเคิลลงถังที่ได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งแต่ละฝ่ายส่งมอบให้แม่บ้านจัดเก็บเพื่อจำหน่ายต่อไป 2.ขยะอินทรีย์ ทิ้งขยะเศษอาหารลงถังที่ได้จัดเตรียมไว้ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บและส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย ทิ้งขยะอันตรายลงถังที่ได้จัดเตรียมไว้ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บและนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะสายไหม 4.ขยะทั่วไป ทิ้งขยะทั่วไปลงถังที่ได้จัดเตรียมไว้ แต่ละฝ่ายดำเนินการจัดเก็บและส่งมอบให้แม่บ้านรวบรวมไว้ที่จุดพักขยะของฝ่ายรักษาความสะอาดฯ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 400 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 25 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาปรับเปลี่ยนขนาดรถเก็บขนมูลฝอย ให้เหมาะสมกับปริมาณขยะที่จัดเก็บในแต่ละพื้นที่ รวมถึงเพิ่มจำนวนเที่ยวในการจัดเก็บขยะเป็น 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่
สำรวจสวน 15 นาที (สวนใหม่) สวนอยู่เจริญภิรมย์ บริเวณข้างโรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนอยู่เจริญภิรมย์ พื้นที่ 873 ตารางเมตร ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนให้ใช้พื้นที่ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ดำเนินการปลูกไม้ยืนต้น ปูหญ้าสนาม จัดทำแปลงไม้ดอกไม้ประดับ ปูทางเดินออกกำลังกาย เสร็จเรียบร้อยแล้ว 2.สวนป่าใต้ทางด่วนถนนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 12,444 ตารางเมตร ดำเนินการปลูกไม้ยืนต้น ปูหญ้าสนาม จัดทำแปลงไม้ดอกไม้ประดับ แล้วเสร็จ 75% 3.สวนใต้ทางด่วนพระราม 9 หน้าพระราม 9 ซอย 11 ดำเนินการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ความคืบหน้าการดำเนินการ 70%
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนพระราม 9 กาญจนาภิเษก พื้นที่ 5 ไร่ 1 ตารางวา มีครูบุคลากรและนักเรียน 916 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ กิจกรรมนำเศษอาหาร ใบไม้ และก้อนเชื้อเห็ดที่ไม่เปิดดอกแล้วมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ เพื่อใช้ในการปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรียน 2.ขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย ดำเนินกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ และจัดให้มีถังขยะแยกประเภทตามจุดต่างๆ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 285 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 250 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด ถนนพระราม 9 (แพลนท์ปูนอินทรี) ซึ่งประกอบกิจการประเภทผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)