(19 ก.ค.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ในวันนี้ นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับดินที่ได้จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
“กระทู้ถามสดในวันนี้ขอให้เป็นบรรทัดฐานกับรถไฟฟ้าทุกสาย เพราะเป็นประโยชน์ที่กทม.ต้องปกป้อง และปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายด้าน ทั้งเรื่องการจราจรและสิ่งแวดล้อม” ส.ก.วิรัช กล่าว
เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยเป็นการผสมโครงสร้างทั้งใต้ดินและยกระดับ ระยะทางรวม 23.63 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร โดยโครงการนี้จะมีดินจากการขุดเจาะจำนวนมาก และถือว่าเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร จึงขอสอบถามว่ากรุงเทพมหานครมีการคิดคำนวณจำนวนดินที่ขุดเจาะหรือไม่ รวมถึงมีแผนที่จะนำดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างไร และขณะนี้โครงการได้ดำเนินการไปกว่า 20-30% ได้นำดินไปใช้ประโยชน์ในจุดใดบ้าง
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครได้มีการคำนวณปริมาณดินจากโครงการก่อสร้างของรฟม. โดยให้รฟม.สำรวจปริมาณดินที่จะต้องขุดและแจ้งต่อสำนักการโยธา ซึ่งจากการตรวจสอบโดยสำนักการโยธา พบว่าจะมีปริมาณดินจากการขุด จำนวนกว่า 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นดินปนเปื้อน จำนวน 1.015 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นสำนักการโยธาได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดแจ้งความประสงค์ที่จะนำดินดังกล่าวไปใช้ และอีกส่วนหนึ่งได้จำหน่ายให้กับบริษัทผู้รับจ้างของรฟม.โดยใช้วิธีเจาะจง ในอัตราที่เหมาะสม โดยเป็นวิธีการที่ใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนความต้องการใช้ดินของหน่วยงานในสังกัดยังไม่มีหน่วยงานใดแจ้งความประสงค์ขอใช้มา จึงเป็นการจำหน่ายให้กับบริษัทเท่านั้น
———-