นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รอง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงการดูแลภายในศูนย์เด็กเล็กว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกสำนักงานเขตกำชับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัด กทม.ให้ปฏิบัติตามประกาศ กทม.เรื่องมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษาของกทม.และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. เช่น การปิดประตูระหว่างเรียนตลอดเวลา และจัดให้มีการซักซ้อมอบรม ชี้แจงเจ้าหน้าที่ทั้ง 274 ศูนย์เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างน้อง 6 เดือน/ครั้ง
ทั้งนี้ จากการสำรวจศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนแบบพิเศษ หรือสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่ได้สังกัด กทม. พบมี 31 แห่ง มีครู 134 คน เด็ก 1,077 คน ซึ่งต้องการให้กทม.สนับสนุนอาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) อุปกรณ์การเรียนการสอน การประเมินพัฒนาการเด็ก เบื้องต้นต้องแก้ไขนิยามในข้อบัญญัติฯ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
“ควรมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในชุมชนเพิ่มขึ้น แต่ต้องชี้แจงกับชุมชนว่า กทม.เข้ามาเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาให้ดีขึ้น โดยมีแผนทำงานร่วมกับสำนักการศึกษา เพื่อสร้างอนุบาล กทม. ให้เป็นอนุบาลต้นแบบ ดูแลเด็กเล็ก 2-6 ขวบให้ดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้สำนักงานเขตสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม เช่น จำนวนเด็ก ซึ่งมีอุปสรรค เมื่อเจ้าของสถานที่ไม่ให้ข้อมูลเพราะห่วงว่าสถานที่ผิดกฎหมายอาจมีผลกระทบต่อตัวเอง
นายศานนท์ ยังกล่าวถึงการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภายในศูนย์เด็กเล็กว่า ปัจจุบันมีผู้บริจาคเครื่องฟอกอากาศ 300 เครื่อง พร้อมหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กเล็ก 40,000 ชิ้น ซึ่งแจกจ่ายไปแล้ว 45 เขต โดยการป้องกันได้ให้เขตประสานงานกับศูนย์พัฒนาเด็กฯ ในพื้นที่หมั่นตรวจเช็กสภาพฝุ่นแอปพลิเคชัน AirBKK หากพบเกินมาตรฐานกำหนดต้องปฏิบัติตามมาตรการ เช่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง ปรับเป็นกิจกรรมในอาคารแทน ปิดประตู หน้าต่าง ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้ามาภายในอาคาร
พร้อมกันนี้ แนะนำให้พิจารณาสร้างห้องปลอดฝุ่นภายในศูนย์ โดยใช้งบประมาณจากโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนละ 200,000 บาท หรือแจ้ง ผอ.เขตหารือการนำเงินมาจัดซื้อ หรือขอจัดสรรงบประมาณปี 2567 หรือให้สำนักพัฒนาสังคมจัดซื้อ.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 ก.ค. 2566 (กรอบบ่าย)