กรุงเทพเทมหานคร เป็นเมืองใหญ่มีความสลับซับซ้อน ประชากรหนาแน่น การจัดระบบดูแลสุขภาพจึงมีความจำเพาะพิเศษ นอกจากการทำงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่เป็นสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยทั้งประเทศ
ด้วยประชากรแฝงใน กทม. ที่ยังประสบปัญหาการใช้สิทธิบัตรทอง เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทาง กทม. และ สปสช. จึงร่วมจัดระบบบริการรองรับดูแลการดูแลอย่างครบวงจร ทั้งระดับปฐมภูมิ ส่งต่อทุติยภูมิและตติยภูมิ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายบริการ
รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าความร่วมมือกับ สปสช. ในครั้งนี้ จะทำให้มีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่พร้อมจะรับลงทะเบียนและดูแลสิทธิบัตรทองที่เป็นประชากรแฝงราว 7 แสนคน ทั้งยังมีความร่วมมือจาก รพ.เอกชน 17 แห่ง ที่อยู่นอกระบบ บัตรทองมาร่วมเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ (มาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545) ให้กับประชากรกลุ่มนี้ด้วย ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นเกินศักยภาพที่จะให้บริการ ซึ่ง กทม. มีนโยบายด้านการรักษาพยาบาล 9 ด้าน เพื่อยกระดับสุขภาพให้ประชาชนรวมถึงประชากรแฝง เน้นในเรื่องการเข้าถึงสิทธิสุขภาพและบริการสุขภาพที่จำเป็น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ได้ประสานไปยังคลินิกชุมชนอบอุ่นกว่า 300 แห่ง ใน กทม. เพื่อรองรับประชากรแฝง 7 แสนคน เปิดให้เลือกเป็นหน่วยบริการหรือ สถานพยาบาลปฐมภูมิ โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง สำนักอนามัย เป็นหน่วยบริการ ประจำของท่าน หากเกินศักยภาพการดูแลก็จะการส่งต่อไปยัง รพ.รับส่งต่อ
ทั้งนี้ เพื่อให้มี รพ.รับส่งต่อเพียงพอต่อการรองรับดูแลอย่างมีคุณภาพ สปสช. ได้ประสานกับ รพ.เอกชน 17 แห่ง ที่ไม่ได้ร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง มาร่วมเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อ ตามมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ โดยมีสายด่วน สปสช. 1330 ทำหน้าที่รับเรื่องจากเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลในการประสานหาเตียง ทำให้เกิดการขยายเตียง ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองฯ ใน กทม. กว่า 572 เตียง
“กทม. และ สปสช. ได้จัดระบบสุขภาพ เพื่อประชากรแฝงใน กทม. แล้ว ประชาชนที่มีสิทธิ บัตรทอง มาทำงานใน กทม. ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมา และยังไม่มีหน่วยบริการประจำในระบบบัตรทองฯ ให้รีบลงทะเบียนกับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้และเข้ารับบริการได้สะดวกโดยเร็ว เพื่อจะได้มั่นใจว่ามีระบบบริการสุขภาพรองรับในพื้นที่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
การลงทะเบียนคลินิกชุมชนอบอุ่น ใช้หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 1.ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนทำหนังสือรับรองตนเองได้ หรือ 2.หนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หรือ 3.หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน หรือ 4.หนังสือรับรองผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง หรือ 5.เอกสาร หรือหลักฐานที่มีชื่อของผู้ประสงค์ลงทะเบียน เช่น ใบเสร็จค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าที่พัก สัญญาเช่าที่พัก ฯลฯ
โดยลงทะเบียนได้ง่ายๆ ผ่าน 3 ช่องทาง 1.แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยน หน่วยบริการ 2.ไลน์ OA สปสช. (พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso ในช่องเพิ่มเพื่อน) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง หรือติดต่อด้วยตนเอง ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือที่สำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ในวันเวลาราชการ หากไม่สะดวกสามารถ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 ได้เช่นกัน
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 ก.ค. 2566