(15 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ในกิจกรรม ผู้ว่าฯ สัญจร เขตวังทองหลาง ณ ห้องประชุมวังทอง 1 ชั้น 6 อาคารกาญจนนิมิต สำนักงานเขตวังทองหลาง
โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เขตวังทองหลางมีพื้นที่ประมาณ 18.8 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1 แสนคน เป็นเมืองที่ไม่หนาแน่นมาก แต่เป็นรอยต่อระหว่างเมืองชั้นในกับเมืองชั้นนอก มีทางด่วนผ่านตรงกลาง ซึ่งเป็นเหมือนไฮไลต์ของเขต
สำหรับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ ในจุดแรกจะพัฒนาถนนเลียบด่วนให้เป็นเส้นทางจักรยาน เพราะว่าเส้นนี้ตัดรถไฟฟ้า 4 สาย ทั้งสายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีแดง หากทำเป็นเส้นทางจักรยานให้มีคุณภาพและสามารถเชื่อมผ่านถนนเส้นต่าง ๆ เช่น ถนนเกษตรนวมินทร์ ลาดพร้าว ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
วันนี้ในช่วงเช้าได้ไปดูบริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วน ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 40 ไร่ โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือกับกทม.ในการนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาเป็นสวน เป็นลานกีฬา เป็นศูนย์กีฬาสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ได้กำชับให้ดูเรื่องทางเข้า-ออกให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งทำเส้นทางจักรยาน จุดจอดจักรยาน ซึ่งต่อไปก็จะเชื่อมต่อกับแหล่งที่อยู่อาศัย อาทิ นาคนิวาส โยธินพัฒนา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางจักรยานนี้ไปยังสวนหรือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า เรื่องนี้จึงเป็นนโยบายที่ต้องเร่งพัฒนาของสำนักงานเขตวังทองหลาง
ด้าน ส.ก.อนุรักษ์ กล่าวว่า ขอบคุณท่านผู้ว่าฯ ที่มาเยี่ยมเยียนเขตวังทองหลาง ในฐานะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตวังทองหลาง ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้หารือเรื่องที่สำคัญในเขตวังทองหลางกับท่าน ซึ่งเขตวังทองหลางถือเป็นเขตเมืองและไม่ค่อยมีที่ว่างให้ประชาชนได้ออกกำลังกายมากเท่าไร แต่ในวันนี้เรามีพื้นที่ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เราได้ใช้ โดยท่านผู้ว่าฯ เองก็เห็นด้วยและสนับสนุนนโยบายที่ได้ขอไป จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ก็ยินดีเช่นกัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาหนึ่งที่เราพบในพื้นที่เขตวังทองหลาง คือเรื่องทางเท้า ซึ่งอาจจะมีทางเท้าและหาบเร่-แผงลอยบางจุดที่ยังมีความไม่เรียบร้อยอยู่ เช่น แถวตลาดสะพาน 2 ลาดพร้าว 101 เป็นต้น จึงได้สั่งการผอ.เขต เร่งรัดแก้ปัญหาดังกล่าว สำหรับที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงทางเท้าและหาบเร่-แผงลอยไปมากและทำได้ค่อนข้างดี เหลือเพียงบางจุดที่ยังเป็นจุดที่เปราะบางอยู่ โดยหลักการคือการให้สิทธิ์คนเดินเท้าเป็นหลัก หากเป็นไปได้ให้หาพื้นที่ของเอกชนเพื่อนำหาบเร่-แผงลอยเข้าไปอยู่ เป็นการแบ่งปันพื้นที่ให้กัน เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
ปัญหาต่อมาคือการที่ไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ต้องไปใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข 15 ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตลาดพร้าว หรือใช้บริการศูนย์แพทย์พัฒนา จึงมอบนโยบายให้ไปหาพื้นที่และตั้งงบประมาณในการจัดสร้างศูนย์บริการสาธารณสุข รวมทั้งสถานีดับเพลิงและกู้ภัยในพื้นที่เขตด้วย เนื่องจากปัจจุบันไม่มีสถานีดับเพลิงในพื้นที่เขต ยังต้องอาศัยสถานีดับเพลิงในพื้นที่ข้างเคียงอยู่
ด้านปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม เขตวังทองหลาง มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมอยู่ประมาณ 8-9 จุด ซึ่งเราก็ได้มีงบประมาณลงมาในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ในปีนี้ได้มีงบประมาณมายังเขต รวม 2 ปีอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อให้เขตดำเนินการตามนโยบายเส้นเลือดฝอย ปรับปรุงบ่อพักน้ำ ถนนหนทางต่าง ๆ เชื่อว่าในช่วง 2 ปีจะเห็นการพัฒนาเรื่องน้ำท่วมและการเดินทางของเขตวังทองหลางอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ในวันนี้ยังมีการตามการบ้านซึ่งเราได้มอบหมายให้ทุกเขตส่งเป้าหมายในปีที่ 2 ประมาณ 20 เรื่อง ได้แก่ พัฒนาถนนสวย ปลูกต้นไม้ เพิ่มสวน 15 นาที ปรับปรุงทางเท้า ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่าง ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง ยกเลิก/ยุบรวมพื้นที่หาบเร่-แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน จัดหาพื้นที่เอกชนหรือ พัฒนา Hawker center แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม แก้ไขจุดจราจรจุดฝืด แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุและอาชญากรรม ปรับปรุงและพัฒนาลานกีฬา ปรับปรุงและพัฒนา บ้านหนังสือ ปรับปรุงและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ปรับปรุงกายภาพโรงเรียนน การจัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม พัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ข้อมูลอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมการใช้งบประมาณ 200,000 บาทต่อชุมชน ส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช. และพัฒนามาตรฐานการบริการประชาชน โดยภาพรวมทำได้ดี แต่ก็ได้มีข้อสั่งการให้เขตเพิ่มจำนวนเป้าหมายในบางเรื่องให้มากขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่จะโฟกัสในปีนี้ คือเรื่องของการจัดเก็บขยะ ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกจุดต้องจัดเก็บขยะอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ โดยจะต้องมาตรวจสอบอีกครั้งว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่
จากนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ว่า จากเหตุที่ลาดกระบังได้มีข่าวมาว่ามีคนได้กลิ่นเหมือนมีศพในรถนั้น ได้สอบถามท่านรองผู้ว่าฯ วิศณุ แล้ว พบว่าได้มีการนำสุนัข K9 ไปพิสูจน์กลิ่นแต่ก็ไม่ได้มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม จึงคิดว่าไม่น่ามีอะไรอย่างที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายให้เปิดการจราจรตามปกติภายในวันจันทร์นี้ (17 ก.ค. 66)
ภายหลังการให้สัมภาษณ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรของสำนักงานเขตวังทองหลาง จำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. นางสาวพิมพ์มาดา ภู่แกมแก้ว ลูกจ้างชั่วคราว ตําแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) 2. นางสาวดารณี กลิ่นจันทร์ ลูกจ้างชั่วคราว ตําแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) 3. นายไพฑูรย์ บุญปกครอง ลูกจ้างชั่วคราว ตําแหน่งพนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) 4. นางสาวกาญจนา หอมสมบัติ ลูกจ้างชั่วคราว ตําแหน่งพนักงานสวนสาธารณะ และ 5. นายสมพิศ แก้วพวงษ์ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) ซึ่งเมนูอาหารวันนี้ ประกอบด้วย ก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีก ปีกไก่บนทอด ผัดพริกเนื้อ ผัดวุ้นเส้น 2 ใจ และไข่ต้มชา ทั้งนี้ ระหว่างร่วมโต๊ะอาหาร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้พูดคุยสอบถามถึงเรื่องต่าง ๆ การดำรงชีวิตประจำวัน ปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมถึงสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ พร้อมให้กำลังใจกับบุคลากรทั้ง 5 คน
ต่อมาในช่วงบ่าย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมคณะผู้บริหารกทม. ได้ลงพื้นที่ 3 จุด ได้แก่
• จุดที่ 1 ชุมชนน้อมเกล้า ซึ่งเป็นจุดที่จะจัดทำเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และตรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม ผลศรีวรา ประตูน้ำคลองวัดตึก
• จุดที่ 2 ซอยรามคำแหง 21 ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบถาวรในพื้นที่ เยี่ยมชมการปรับภูมิทัศน์คลองแสนแสบ แขวนกระถางเฟื่องฟ้าตั้งแต่คลองลาดพร้าวถึงสุดพื้นที่เขตวังทองหลางคลองจั่น จำนวน 700 กระถาง
• จุดที่ 3 ชุมชนวัดเทพลีลา เยี่ยมชมชุมชนนำร่องการบำบัดยาเสพติด การส่งเสริมวัฒนธรรม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ติดตั้งถังดักไขมัน จุดเช็กอินเข้าไปพักที่ทำการชุมชน และติดตามนโยบายเดินทางดี จัดทำทางทางแก้ไขปัญหาการจราจรซอยรามคำแหง 53
—————————