กทม.จับมือเครือข่ายจัดหาพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น พร้อมจัดอบรมรุกขกรประจำเขต
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตการปลูกต้นไม้ของ กทม.ส่วนใหญ่จะเน้นไม้พุ่ม ซึ่งไม่มีความคงทนถาวรเหมือนต้นไม้ใหญ่ว่า สสล.ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมและการอนุบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันได้จัดทำคู่มือปลูกต้นไม้ให้หน่วยงานในสังกัด กทม.ที่ดำเนินงานด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยแนะนำการคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ อีกทั้งขับเคลื่อนนโยบายในช่วงแรก โดยเน้นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กทม.อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานและเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อจัดหาพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติมให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าว รวมถึงจัดโครงการฝึกอบรมด้านรุกขกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ ตามนโยบายจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต ดำเนินการตัดแต่งและดูแลรักษาต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการด้านรุกขกรรม เพื่อการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กทม.มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการตัดแต่งต้นไม้ที่ได้รับการอบรมความรู้ด้านรุกขกรรมและการตัดแต่งต้นไม้ในเมือง โดย สสล.ได้จัดการอบรม ทบทวน และต่อยอดด้านการตัดแต่งรุกขกรรมและการประเมินสุขภาพต้นไม้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนพายุลมกระโชกแรง สสล.ได้ประสานแจ้งเตือนและขอความร่วมมือสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ตรวจสอบต้นไม้ ประเมินความเสี่ยง เพื่อตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะ ทางเท้า เกาะกลาง รวมถึงสวนสาธารณะในความรับผิดชอบของ กทม.หากพบความเสี่ยงมีกิ่งแห้ง กิ่งผุ ให้เร่งตัดแต่งและสางโปร่งพุ่มใบหนาทึบต้านลมให้ลมผ่านได้ ป้องกันการโค่นล้ม และค้ำยันกรณีพบต้นเอนเอียงเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
กทม.ประสาน กฟน.แก้ไขเบรลล์บล็อกทางเท้าถนนจรัญสนิทวงศ์
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์การวางเบรลล์บล็อกทางเท้าถนนจรัญสนิทวงศ์ไม่ถูกต้องว่า สนย.ได้ตรวจสอบทางเท้าถนนจรัญสนิทวงศ์ ช่วงตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงแยกท่าพระ พบว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ระหว่างการซ่อมคืนสภาพทางเท้าถาวร พร้อมหักเสาไฟฟ้าและติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่ง สนย.ได้ประสาน กฟน.ทราบว่า จุดดังกล่าวผู้รับเหมาได้ปูกระเบื้องทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือเบรลล์บล็อก (Braille Block) ไม่ถูกต้องตามรูปแบบมาตรฐาน โดยขณะนี้ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การคืนสภาพทางเท้าในถนนจรัญสนิทวงศ์ กฟน.ได้ดำเนินการตามรูปแบบมาตรฐานงานทางของกรุงเทพมหานคร เพื่อความสะดวกปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้าทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม สนย.จะได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และเป็นไปตามมาตรฐานงานก่อสร้างต่อไป
กทม.แจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคเคลื่อนย้ายท่อกีดขวางทางม้าลายแยก RCA
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนเดือดร้อนจากการนำท่อวางปิดทางม้าลายบริเวณแยก RCA ว่า จากการตรวจสอบพบว่า ท่อขนาดใหญ่ดังกล่าวเป็นของหน่วยงานสาธารณูปโภคนำมาวางกีดขวางการสัญจรตรงทางข้ามบริเวณทางแยก RCA ซึ่งเป็นอุปสรรคสร้างความเดือดร้อนและไม่ปลอดภัยให้แก่ประชาชน สจส.จึงประสานสำนักการโยธา กทม.แจ้งผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างสาธารณูปโภคบริเวณแยก RCA ให้เคลื่อนย้ายท่อดังกล่าวออกไปให้พ้นพื้นที่เรียบร้อยแล้ว
กทม.เข้มจับปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จับมือเอกชนกำหนดมาตรการลงโทษ Rider ที่ฝ่าฝืน
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวถึงอัตราค่าปรับผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งติดป้ายประกาศเตือนให้ทราบว่า การจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้าเป็นความผิดตามมาตรา 17 (2) แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท มาโดยตลอด แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถบนทางเท้า สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ทางเท้า บางรายทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้ใช้ทางเท้า บางรายขับรถเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับบาดเจ็บ เป็นอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน โดย กทม.ได้กำหนดมาตรการปรับผู้ฝ่าฝืนในอัตราขั้นต่ำ 500 บาท แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนไม่เกรงกลัว จึงกำหนดอัตราค่าปรับสูงขึ้น เป็นเงิน 1,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ หากผู้ขับขี่รายใดก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ทะเลาะวิวาท หรือเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้า ต้องถูกปรับในอัตราสูงสุด 5,000 บาท ขณะเดียวกัน สนท.ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกจับ – ปรับอย่างจริงจัง โดยจัดทำโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้า ซึ่งบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต ตั้งจุดตรวจจับ – ปรับในพื้นที่ โดยระหว่างเดือน ก.ค.61 – 23 มิ.ย.66 จับกุมผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดจอด หรือขับขี่แล้ว 49,252 ราย ปรับเป็นเงิน 54,029,000 บาท
นอกจากนั้น กทม.ยังได้เริ่มใช้กล้องวงจรปิด (AI CAMERA) ติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อตรวจจับรถที่ขับขี่บนทางเท้า โดยเชื่อมต่อกับกรมขนส่งทางบก เพื่อให้ทราบตัวผู้ที่เป็นเจ้าของรถที่กระทำความผิด จากนั้นสำนักงานเขตจะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของรถมาชำระค่าปรับ ขณะเดียวกันได้สร้างความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทรับ-ส่ง อาหาร หรือสินค้า (Rider) เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษสมาชิกที่ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า ส่วนกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ หากถูกปรับฐานวิ่งบนทางเท้า 3 ครั้งใน 1 ปี จะถูกเพิกถอนรายชื่อจากบัญชีผู้ขับขี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดเป็นมาตรการสำคัญ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและการขับขี่ยวดยานพาหนะจะต้องเป็นไปตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด
เขตพระนครแจงระเบียบการอนุญาตให้ใช้พื้นที่สนามหลวง
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีมีข่าว กทม.ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่สนามหลวงจัดงานแปรอักษรเทิดพระเกียรติของชมรมมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์ว่า การพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่สนามหลวงในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตพระนครดำเนินการตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการใช้ การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.2555 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ ซึ่งตามข้อ 7 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวง เพื่อการจัดงานดังนี้ ได้แก่ งานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติ โดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี ขณะที่ชมรม IMMORTALS THAILAND ได้มีหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่สนามหลวงจัดโครงการ “รวมพลคน Harley รักในหลวง (Long Live The King 10)” เพื่อจัดงานแปลอักษรเทิดพระเกียรติในวันที่ 25 มิ.ย.2566 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกเหนือจากที่กำหนดให้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวง โดยได้ประสานชมรม IMMORTALS THAILAND ให้รับทราบและเข้าใจถึงระเบียบดังกล่าว ชมรมฯ จึงได้ขอใช้พื้นที่ลานคนเมืองแทนท้องสนามหลวง ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้ใช้ลานคนเมืองในการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
เขตหลักสี่เร่งแก้ปัญหาขยะ – จอดรถกีดขวางในซอยวิภาวดีรังสิต 66
นางสมฤดี ลันสุขีพ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ กทม.กล่าวกรณีประชาชนในซอยวิภาวดีรังสิต 66 ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากผู้มาติดต่อทำวีซ่าไต้หวันนำรถยนต์เข้ามาจอด สร้างปัญหาการจราจรและความสกปรกในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตหลักสี่ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยจัดคนงานกวาดประจำในซอย 1 คน ติดตั้งป้ายห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ จำนวน 5 จุด และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจสอบกวดขันทุกวัน เพื่อแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะบนถนน ขณะเดียวกันได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อติดตั้งแผงเหล็กห้ามจอดรถกีดขวางการจราจรบริเวณปากซอยวิภาวดีรังสิต 66 เพื่อแก้ไขปัญหาการจอดรถกีดขวางในพื้นที่
เขตวัฒนาคืนทางเท้าให้ประชาชนสัญจร เตรียมยกเลิกทำการค้าในซอยสุขุมวิท 11
นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม.กล่าวกรณีผู้ค้าในซอยสุขุมวิท 11 เขตวัฒนา ร้องเรียนมีชาวต่างด้าวเปิดแผงค้าบนทางเท้าว่า สำนักงานเขตวัฒนา ได้ตรวจสอบบริเวณซอยสุขุมวิท 11 พบผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน ซึ่งเป็นผู้ค้าที่ลงทะเบียนข้อมูลไว้กับสำนักงานเขตฯ จำนวน 22 ราย จำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร ผลไม้ และสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไปในช่วงเวลากลางคืน ส่วนผู้ค้าต่างด้าวเป็นการลักลอบมาจำหน่าย ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ตรวจตรา กวดขัน และจับกุมดำเนินการตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ มีแผนดำเนินการคืนทางเท้าให้ประชาชน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการสัญจร และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม จึงกำหนดยกเลิกไม่ให้ทำการค้าในที่สาธารณะบริเวณซอยสุขุมวิท 11 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.66 เป็นต้นไป โดยสำนักงานเขตฯ ได้จัดประชุมผู้ค้า เพื่อแจ้งปัญหาให้ทราบ พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ค้าให้เตรียมเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งผู้ค้าทั้งหมดรับทราบแล้ว ขณะเดียวกันได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เพื่อร่วมตรวจตราไม่ให้บุคคลต่างด้าวลักลอบทำการค้า และกวดขันไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนจอดรถกีดขวางการจราจรบริเวณสุขุมวิท 11