(15 พ.ย. 65) เวลา 09.40 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand Smart City : Bangkok Model ซึ่งจัดขึ้นโดยเนชั่นทีวี ช่อง 22 ร่วมกับโพสต์ทูเดย์ สื่อในเครือเนชั่น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เขตปทุมวัน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง “กรุงเทพฯ กับ Smart City” ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. Smart City คืออะไร 2. ปัญหา โอกาส เป้าหมาย และ 3. การพัฒนา Smart City
“ก่อนที่จะนิยาม Smart City เราจะต้องย้อนกลับไปว่าเมืองคืออะไร เมืองคือตลาดแรงงาน (Labor market) การอยู่ในเมืองได้ เพราะหัวใจหลักสำคัญคือการมีงานและเศรษฐกิจ ส่วนหน้าที่ของกทม.หรือหน้าที่ของเมือง ประกอบด้วย 1. เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น 2. พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ 3. สร้างโอกาสสำหรับทุกคน 4. สร้างความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งหากเมืองไหนไม่มีเรื่องนี้คงอยู่ได้ยาก ส่วน Smart City คือ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการทำหน้าที่ของเมือง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ตามทฤษฎีของ Smart City ประกอบด้วย 1. โครงสร้างพื้นฐานและระบบการเดินทาง 2. ระบบเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต 3. โครงสร้างพื้นฐานของสังคม หากมีแค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่ ต่อให้เทคโนโลยีล้ำแค่ไหน แต่ถ้าผู้คนไม่ได้คิดตาม ไม่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสม สุดท้ายเมืองก็ไม่ฉลาด
จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ได้ยกตัวอย่างเมืองที่เป็น Smart City จากการปรับวิธีการคิด ซึ่งในหลาย ๆ เมืองเพียงใช้วิธีขีดสีตีเส้น ทำให้การจราจรมีความชัดเจนเป็นระบบ แทนการสร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น สะพานลอย ซึ่งไม่สะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ พร้อมกล่าวถึงบทความของคุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่กล่าวถึง 2 Mindsets (มโนทัศน์) เกี่ยวกับ Smart City ได้แก่ มโนทัศน์เน้นเทคโนโลยี (technology-oriented mindset) กับมโนทัศน์เน้นคน (people-oriented mindset)
“ผมเชื่อใน Mindset ที่สอง คือการเอาคนนำ เพราะเมืองไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง เมืองคือคน ดังนั้น หัวใจของ Smart City ต้องตอบโจทย์คน โดยให้คนเป็นศูนย์กลาง เทคโนโลยีไม่สามารถตอบคำถามได้ หากจะตั้งคำถามของเมืองต้องมาจากคนที่เข้าใจปัญหาและมีคำตอบ โดยมีเทคโนโลยีมาช่วย ผมไม่ได้เชื่อเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) มากนัก แต่ผมเชื่อในเรื่องเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยที่ชาญฉลาด หรือ Intelligent Assistant (IA) ของเรา เมื่อเรามีปัญหา เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบคำถามของเรา ซึ่งการจะแก้ปัญหา เราต้องใช้เลนส์หลากสี (multi color lenses) ยกตัวอย่างเช่น การจะแก้ปัญหาอาชญากรรม ถ้าใส่แค่เลนส์เทคโนโลยี ก็จะแก้ด้วยการติดกล้อง CCTV อย่างเดียว แต่หากเราใช้เลนส์หลากสี เราจะมองปัญหาในหลายส่วน เช่น การแก้ปัญหาเชิงสังคม การศึกษา การหางาน การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไฟส่องสว่าง ที่พักอาศัย ซึ่งเทคโนโลยีอาจจะเป็นแค่หนึ่งในหลาย ๆ คำตอบ”
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะวางแผนอนาคต จะต้องรู้ก่อนว่าคุณอยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่รู้โจทย์ตรงนี้ เราจะหาเทคโนโลยีที่มาตอบโจทย์ยาก ในช่วง 4 เดือนแรกที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. พบว่าปัญหาที่สำคัญของกรุงเทพฯ คือ ความไว้วางใจระหว่างกทม.และประชาชน การจะสร้างความไว้วางใจนั้น จะต้องยึดประชาชนเป็นหลัก มีความเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วม ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างโอกาส ความโปร่งใส ความร่วมมือ ความเท่าเทียม ความเห็นอกเห็นใจ การกระจายอำนาจ และความยุติธรรม ซึ่งเราสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ขณะที่ปัญหาของกรุงเทพฯ อีกเรื่องคือ ปัญหาเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมามีการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานบริเวณส่วนกลางหรือเส้นเลือดใหญ่เป็นหลัก ส่วนปัญหาในชุมชนหรือเส้นเลือดฝอยไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ เมื่อเส้นเลือดฝอยอ่อนแอ ทำให้เมืองไปไม่รอด
“บางทีนักการเมืองส่วนใหญ่ชอบมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับเมกะโปรเจ็กต์ เพราะมันเซ็กซี่ เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ปัญหาเส้นเลือดฝอยเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียม หากต้องการให้เมือง Smart ได้จะต้องดำเนินการทั้งระบบ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่ 3 คือเรื่องความโปร่งใส พบว่าไทยมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันและการทุจริต หากไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็ไม่สามารถไปต่อได้ ไทยควรนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเรียกความมั่นใจของประชาชนให้กลับมา ดังนั้น ก่อนจะไป Smart ต้องยอมรับปัญหาก่อน แล้วจึงตั้งเป้าหมายต่อไป
“กรุงเทพฯ มีตัวเลขที่เกี่ยวข้อง คือ 1 กับ 98 โดยเราเป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับ 1 ของโลก แต่ 98 คืออันดับเมืองน่าอยู่ของโลก ผมคิดว่า Smart City กับเมืองน่าอยู่คือเรื่องเดียวกัน เป้าหมายของเราจึงต้องการ Smart เพื่อเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้น ทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เป็นเมืองน่าอยู่ 1 ใน 50 อันดับแรกของโลก หากทำได้ เชื่อว่าคือ Smart City”
จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ได้ยกตัวอย่างการพัฒนา Smart City ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการ ได้แก่ การนำ Traffy Fondue เข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน ตอบโจทย์เรื่องความไว้วางใจ โดยการเปลี่ยนระบบราชการจากระบบท่อเป็นแพลตฟอร์ม ลดขั้นตอนการสั่งการ/การดำเนินการแก้ไขปัญหา ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน การจัดทำ Open Data นำเข้าข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ การพัฒนาระบบหมอทางไกล การปรับปรุงการขอใบอนุญาตทางระบบออนไลน์ One Stop Service การบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่ายและกวดขันวินัยจราจร การปลูกต้นไม้ล้านต้นและนำเทคโนโลยีมาติดตามความคืบหน้าโครงการ การมีอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชน รวบรวมข้อมูล ให้ความรู้ คอยสอนเทคโนโลยี เพื่อให้คนใช้เทคโนโลยีเป็น ให้คนเข้าถึงการบริการของรัฐ การจัดกิจกรรมโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School) ให้ความรู้นอกเหนือจากหลักสูตร เพื่อให้เด็กมีความรู้เป็นรูปตัว T คือรู้ลึกและรู้กว้าง เป็นต้น
“การทำ Smart City ไม่ใช่เริ่มที่เทคโนโลยี แต่ต้องเริ่มที่คน และสิ่งสำคัญคือสิ่งที่เราคิด มีหนังสือที่ผมชอบมาก คือ Think Again เขาบอกให้เราสงสัยในสิ่งที่เรารู้ และขวนขวายในสิ่งที่เราไม่รู้ ปรับความคิดให้ทันสมัย สำหรับผม Smart City คือ Thinking City เป็นเมืองที่คนคิด มีความคิดสร้างสรรค์ ถ้ามีเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่คนไม่คิด ก็ไปไม่รอด เราต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้คนมีความคิดที่แตกต่าง ยอมรับ และพัฒนาก้าวไปด้วยกัน สุดท้ายพลังอยู่ที่คน คนคือเมือง ถ้าคนฉลาด เดี๋ยวเมืองฉลาด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย
ประชาชนสามารถรับฟังการปาฐกถาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/NationOnline/videos/612581033953437
——————————