กทม.เตรียมพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ จัดตลาด Farmer Market ครอบคลุม 50 เขต
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งว่า สพส.ได้เตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นการเกษตรฝั่งพระนครและธนบุรี ประกอบด้วย ผู้แทนเกษตรกรของ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรและด้านการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาเกษตรกร กทม. สำนักการระบายน้ำ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง การเลี้ยงสัตว์ และโรคระบาดสัตว์ที่อาจแพร่ระบาดในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อรับมือผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” รวมทั้งติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำ และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่เขต ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรติดตามข่าวสาร สถานการณ์ และปริมาณน้ำ เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์ หาวิธี การป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด นอกจากนั้น ยังได้ออกตรวจเยี่ยมสำนักงานเขตเกษตรกรและพื้นที่การเกษตรในเขตที่มีความเสี่ยงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานเกษตรเขต สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำ กรมชลประทาน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร
สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ สพส.ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อวางแผน การเพาะปลูกพืชและการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการปลูกพืชผัก หรือพืชไร่ที่มีอายุสั้น พืชผักสวนครัว และผักพื้นบ้าน ตลอดจนเตรียมความพร้อมการป้องกันและลดความเสียหายด้านปศุสัตว์และด้านประมง หากประสบปัญหาให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละด้านทราบและแก้ไข พร้อมทั้งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อประกอบเป็นอาชีพเสริมที่เหมาะสมกับด้านกายภาพ ตามวิถีของเกษตรกรภายใต้พื้นที่ประกอบการเกษตรเดิม รวมทั้งจัดตลาด Farmer Market ณ สำนักงานเขต ครอบคลุม 50 เขต และสวนสาธารณะของ กทม.เพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตพืชผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าเพื่อสุขภาพมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง ทำให้เกษตรกรมีสถานที่จำหน่ายสินค้าและสร้างรายได้ให้อาชีพเกษตรกรอย่างมั่นคง
สปภ.เสนอแนวทางแก้ปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวกรณีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงร้องเรียน กทม.ไม่มีมาตรฐานเรื่องเวลาการปฏิบัติงานและไม่ได้อิงกฎหมายของ กทม.ว่า สปภ.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจต่างจากส่วนราชการอื่น ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานดูแลประชาชนด้านสาธารณภัยสลับหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์วันและเวลาการเกิดเหตุได้ โดย สปภ.ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและได้เวียนแจ้งให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติแล้วตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการมาตรฐานการปฏิบัติงานและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกส่วนราชการ ทั้งนี้ การกำหนดเวลาการปฏิบัติงานต้องยึดโยงและสอดคล้องกับมาตรฐานความจำเป็นขั้นพื้นฐานของอัตรากำลังที่ต้องออกปฏิบัติงาน ซึ่งมาตรฐานความจำเป็นขั้นพื้นฐานการปฏิบัติงานในแต่ละช่วงเวลาคือ ต้องมีกำลัง 18 – 20 นาย (แบ่งตามภารกิจ) ไม่สามารถพิจารณาจากส่วนหนึ่งส่วนใดได้ และปัจจุบันแต่ละสถานีดับเพลิงมีอัตรา กำลังเต็มเพียง 40 นาย จึงแบ่งเป็นชุดได้เพียง 2 ชุด ๆ ละ 20 นาย ทำให้เมื่อนำอัตรากำลังคนมาพิจารณาร่วมกับมาตรฐานฯ จึงต้องปฏิบัติงานกะละ 24 ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครมีความเข้าใจและเห็นใจเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ต้องปฏิบัติงานอย่างหนัก และอาจมากกว่าข้าราชการอื่น แต่ด้วยภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบ จึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติ และการปฏิบัติต้องเป็นไปตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผู้บริหาร สปภ.ได้เสนอผู้บริหาร กทม.ถึงแนวทางการเยียวยาและทดแทนความเสียสละของเจ้าหน้าที่ โดยกำหนดแนวทาง ดังนี้ (1) เพิ่มสวัสดิการเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการในส่วนที่ปฏิบัติงานเกินกว่าปกติ (2) นำแนวทางการจ้างบุคคลภายนอกมาแบ่งเบาภาระในภารกิจรอง เช่น งานการบริการประชาชน งานช่วยบัญชาการประจำสถานีดับเพลิง เป็นต้น ซึ่งได้นำร่องใน 4 สถานีใหม่ที่จัดตั้งไปแล้ว และจะได้ศึกษาเพื่อต่อยอดในสถานอื่น ๆ ต่อไป และ (3) ออกแบบการปฏิบัติงานเพื่อให้มีเวลาและวันทำงานใกล้เคียงกับข้าราชการอื่นมากที่สุด ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ในสังกัด สปภ. อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงานและพร้อมทุ่มเทเสียสละแรงกายแรงใจ เพื่อดูแลประชาชนในกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ ส่วนผู้บริหารทั้งใน สปภ.และ กทม.ก็มีความพยายามที่จะแก้ไข ดูแล และเพิ่มเติมสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความสุขในการปฏิบัติงานมากที่สุด
กทม.ดูแลความปลอดภัยผู้ใช้ทางเท้า ตีเส้นช่องทางสัญจรในถนนลาดพร้าว ซอย 1
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนถนนลาดพร้าว ซอย 1 ประชาชนต้องเดินบนถนนเสี่ยงต่อการถูกรถยนต์เฉี่ยวชน ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ส่วนทางเท้าถูกใช้เป็นที่ขายของว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบเขตทางสาธารณะบริเวณดังกล่าวแล้วปรากฏว่า อยู่ในพื้นที่เอกชน ซึ่งกรณีผู้ค้าตั้งวางจำหน่ายสินค้า จึงไม่ใช่ทางเท้าสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรบริเวณดังกล่าว สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) พิจารณาตีเส้นช่องทางสัญจรให้ประชาชนภายในซอยข้างละ 1 เมตร พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าและการจอดรถกีดขวาง ทางสัญจร รวมถึงกวดขันวินัยจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
เขตวัฒนาสั่งรื้อถอนป้อมเก็บเงินค่าผ่านทางสะพานข้ามคลองพระโขนง พร้อมเปิดให้ประชาชนใช้ประโยชน์
นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการยกเลิกตั้งป้อมเรียกเก็บค่าผ่านสะพานข้ามคลองพระโขนงและถนนภาระจำยอม รวมทั้งการรื้อถอนอาคาร (ป้อมเก็บเงิน) และสิ่งรุกล้ำที่สาธารณะว่า สำนักงานเขตวัฒนาได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคาร (ป้อมเก็บเงิน) ระงับการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคาร ตามมาตรา 40(1) ลงวันที่ 1 เม.ย.66 ห้ามใช้ หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร หรือบริเวณที่มีการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคาร ตามมาตรา 40(2) ลงวันที่ 1 เม.ย.66 และให้รื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 42 ลงวันที่ 1 เม.ย.66 โดยบริษัท อ่อนนุช แลนด์ จำกัด ได้มีหนังสือขออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการฯ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ผ่านทางภาระจำยอมโดยไม่ได้เก็บค่าผ่านทางใด ๆ