นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 2 ว่า ประสบความสำเร็จ และได้เห็นความตั้งใจของเยาวชนที่เตรียมข้อมูลที่อยากขับเคลื่อนนโยบายมานำเสนอความร่วมมือ โดย 4 นโยบายที่ กทม. เห็นว่าสามารถนำไปต่อยอดกับนโยบายอื่น ๆ ได้ ประกอบด้วย
1.นโยบายที่พักพิงชั่วคราวทาง การแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน (Medical Respite Care for Homeless) โดยทีม สุขภาวะข้างถนน ซึ่ง กทม.ทำบ้านอิ่มใจอยู่เลยคิดว่าจะเปิดเป็น 4 ห้องให้มีแพทย์อาสาเข้ามาดูแล เพื่อให้คนเร่ร่อนที่เป็นผู้ป่วยมีที่รักษาฟื้นฟู
2.นโยบายแพลตฟอร์มปรึกษาสัตวแพทย์ออนไลน์ (For Pet Adopter) โดยทีมเพทที่นี่ ซึ่งระบุว่า กทม.มีสุนัขแมวจรจัด 2 ล้านตัวที่ยังไม่ทำหมัน และไม่มีคนรับเลี้ยง นโยบายนี้เป็นแนวออน ไลน์ แนวแอปพลิเคชัน 3.นโยบายพื้นที่แสดงออกสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ 15 นาทีใกล้บ้าน (Bangkok Creative Art Learning & Performing Space) โดยทีม Urban Street Bangkok ซึ่ง กทม. มีพื้นที่เปิดให้แสดงความสามารถ เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง ที่ปรับสามารถใช้แสดงความสามารถได้
และ 4.นโยบาย BKK TREE FUND โดยทีม GreenDot เสนอให้มีกองทุนดูแลต้นไม้ ซึ่งกองทุนอาจมีระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้องจึงจะชวนมาทำในเส้นทางที่จะปรับปรุงทางเท้า เพื่อช่วยกันดูแลต้นไม้
นายศานนท์ กล่าวต่อว่า สภาเมืองคนรุ่นใหม่เป็น 1 ในนโยบายของผู้ว่าฯ ที่ต้องการให้มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่นำไอเดียมานำเสนอและพูดคุยกับผู้บริหาร ไม่ใช่แค่คุยกันแบบในห้องประชุม แต่เป็นการเปิดสภาให้ได้คุยกัน เชื่อว่าจะเป็นอีกพื้นที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสร่วมเปลี่ยนเมืองไปด้วยกัน ไม่ใช่เปลี่ยนในระบบโครงสร้างใหญ่อย่างเดียว แต่จุดเล็ก ๆ ที่หลายคนคิดไม่ถึงก็สามารถเปลี่ยนเมืองที่เราอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
“ต้องขอบคุณทุกคนสมัครเข้ามาเสนอนโยบายและคัดเลือกมาได้ 4 ทีม เชื่อว่าครั้งต่อ ๆ ไป จะได้รับความสนใจมากขึ้น หากใครมีไอเดียจะใช้เวทีแห่งนี้ ทุก ๆ 3 เดือน ก่อนที่จะมีการนำเสนอนโยบายของทีมใหม่นั้นจะต้องการนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายเก่า เพื่อให้ผู้บริหารมารับฟังและนำไปดำเนินการต่อด้วย”.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2566 (กรอบบ่าย)