นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมและรับฟังการนำเสนอนโยบายในการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมฯ ในวันนี้ (11 มิ.ย. 66) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)
สำหรับวาระการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 2/2566 ในวันนี้ ประกอบด้วย การนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการ 3 นโยบาย จาก 3 ทีมที่เข้าร่วมการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 1/2566 Special Talk จากเครือข่ายเยาวชน โดย นฤมิตไพรด์ ในหัวข้อ “เมืองสีรุ้ง ที่โอบกอดและปลอดภัยสำหรับเยาวชนเพศหลากหลาย” (Pride City For LGBTQIAN+) และการนำเสนอนโยบายจาก 4 ทีมคนรุ่นใหม่ ที่คณะกรรมการได้ประกาศรับนโยบายและได้คัดเลือกเหลือ 4 ทีมสุดท้าย คือ
นโยบายที่พักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน (Medical Respite Care for Homeless) โดยทีม สุขภาวะข้างถนน
นโยบาย “แพลตฟอร์มปรึกษาสัตวแพทย์ออนไลน์ For Pet Adopter” โดยทีม เพทที่นี่
นโยบาย “พื้นที่แสดงออกสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ 15 นาทีใกล้บ้าน” (Bangkok Creative Art Learning & Performing Space) โดยทีม Urban Street Bangkok
นโยบาย “BKK TREE FUND” โดยทีม GreenDot.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวภายหลังการนำเสนอนโยบายทั้ง 4 นโยบาย ว่าเชื่อว่าที่ผ่านมาบางครั้งเราไม่ค่อยได้ฟังเสียงของพวกเราคนรุ่นใหม่ ทั้งที่พวกเราจะเป็นเจ้าของเมืองในอนาคต ถ้าเราฝึกคิดถึงปัญหามองทางออกรู้จักข้อจำกัดทั้งหลายเชื่อว่าต่อไปเราจะรับส่งต่อเมืองนี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หน้าที่ผมคือส่งต่อเมืองให้พวกเราเข้าใจปัญหาและมีส่วนร่วมในการหาคำตอบให้กับปัญหาของเมือง ผมเชื่อว่าเมืองก็จะตอบโจทย์พวกเราได้มากขึ้น เพราะเมืองเมืองนี้ไม่ได้มีไว้เฉพาะคนแก่ และอนาคตพวกเราจะเป็นคนที่รับเมืองนี้ต่อไป ขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนที่มาร่วมกัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อถึงนโยบายที่นำเสนอว่า ไอเดียหลายอย่างดีมาก ฟังแล้วได้ตกผลึก ทั้งเรื่องหมาแมวจรจัดซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ มีจำนวนหลักแสนหลักล้านต้องทำหมันและฉีดวัคซีน เพราะพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่อันตราย เรื่องคนไร้บ้านเป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน เพราะแสดงถึงความเหลื่อมล้ำในเมือง จริง ๆ แล้วคนไร้บ้านก็เหมือนคนทั่วไป บางคนมาอยู่ไม่กี่วันก็ไปเป็นไกด์ ออกจากคนไร้บ้านไปมีอาชีพมีงานทำ เส้นแบ่งระหว่างคนธรรมดากับคนไร้บ้านบางมาก ทำอย่างไรให้เขาก้าวข้ามเส้นบาง ๆ พวกนี้ได้ เพระฉะนั้นเรื่องการให้โอกาสให้สิทธิที่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องพื้นที่สาธารณะก็สำคัญ ที่ผ่านมาเราไม่มีพื้นที่สาธารณะให้เยาวชนได้แสดงออก หากจะหาที่แสดงศิลปะดี ๆ ที่มีคุณภาพ หรือพื้นที่แสดงดนตรีของเยาวชนให้คนทั่วไปฟังก็มีจำกัด กทม.ถือเป็นนโยบายที่จะเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนรุ่นใหม่ได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เรื่องพื้นที่สีเขียวก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเราปลูกต้นไม้วันนี้ก็เพื่ออนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ก็ต้องคิดเช่นกันว่าใครจะดูแลต้นไม้เหล่านี้
“สำหรับนโยบายทุกเรื่องที่เสนอมาเป็นเรื่องสำคัญทั้งหมด ขอบคุณน้อง ๆ ที่เห็นปัญหาทะลุ เชื่อว่าต่อไปจะขยายจำนวนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น และสิ่งสำคัญคือนำ 4 นโยบายนี้ไปทำต่ออย่างไร จริง ๆ แล้วพวกเราคือ active citizen การเลือกตั้งนั้นแค่ 4 ปีครั้ง แต่การมีส่วนร่วมทำได้ทุกวันทุกวินาที จะเปลี่ยนเมืองได้ต้องอาศัยพวกเราทุกคน และกทม.จะนำข้อเสนอทั้งหลายไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม กล้าคิดแล้วเรากล้าทำให้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า สภาเมืองคนรุ่นใหม่เป็นนโยบายที่ 47 ใน 216 นโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ และได้เปิดประชุมสภาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เชื่อว่าน่าจะมีพื้นที่สักที่หนึ่งที่คนรุ่นใหม่ได้นำไอเดียต่าง ๆ มาพูดคุยกับผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ และไม่ใช่แค่คุยกันแบบในห้องประชุมแต่เป็นการเปิดสภาให้ได้คุยกัน ขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนที่ร่วมสมัครเข้ามาเสนอนโยบาย และได้คัดเลือกมา 4 ทีมตามกระบวนการของสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เชื่อว่าครั้งต่อ ๆ ไป จะได้รับความสนใจมากขึ้น หากใครมีไอเดียอะไรก็จะใช้เวทีแห่งนี้ทุก ๆ 3 เดือน ในการนำเสนอ สัญญาว่าผู้บริหารกทม. จะมารับฟังและนำไปดำเนินการต่ออย่างแน่นอน
การประชุมในวันนี้มี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้แทนสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักการแพทย์ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม