90จุดหลังทดลองได้ผล-แยกประเภทขยะด้วย
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม.นายประพาส เหลืองศิรินภา ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัญหาการวางถุงขยะที่จุดทิ้งขยะบนทางเท้า ทำให้กองขยะขยายใหญ่ กินพื้นที่ทางเดินเท้ามากขึ้น นอกจากจะกีดขวางการเดินและทำให้เกิดทรรศนะที่ไม่สวยงามแล้ว ยังสร้างความสกปรก ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมผู้ว่าฯกทม.จึงได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมจัดทำกรงตาข่ายสำหรับวางถุงขยะเพื่อลดทรรศนะอุจาดของกองขยะที่ถูกวางบนทางเท้ารอการจัดเก็บจำกัดขนาดกองขยะไม่ให้ขยายกว้างบนทางเท้าป้องกันถุงขยะหรือเศษขยะลอยน้ำเมื่อฝนตกหรือน้ำท่วมไปทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน
สำนักสิ่งแวดล้อมจึงจัดทำกรงตาข่ายที่มีโครงสร้างเหล็กเพิ่มความแข็งแรงและให้คงรูป ขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 1.20 เมตร สูง 90 เซนติเมตร พร้อมติดป้ายแนะนำการทิ้งขยะวันเวลาทิ้งขยะ โดยเจ้าหน้าที่จะตั้งคอกเขียวในเวลา 18.00 น. และเก็บก่อนเวลา 05.30 น. ของทุกวันซึ่งปัจจุบัน กทม.ได้ติดตั้งแล้ว 70 จุด ใช้กรงตาข่าย 102 กรง บนถนนสุขุมวิทตลอดสาย ถนนพระราม 1 ถนนสีลม ถนนรามคำแหง และในเดือนมิ.ย.นี้จะติดตั้งเพิ่มอีก 19 เส้นทาง ในพื้นที่ 12 เขต อาทิ ถนนราชปรารภ เขตราชเทวี ถนนพญาไท เขตราชเทวี ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท สายไหม ดอนเมือง ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร ถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก ถนนจันทน์ เขตสาทร ถนนพระราม 4 เขตคลองเตย จำนวน 90 จุด ใช้กรงตาข่าย 117 กรงจากนั้นจึงจะขยายให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ กทม.เตรียมขับเคลื่อนนโยบายแยกขยะ “ไม่เทรวม” โดยพัฒนาจุดทิ้งขยะกรงตาข่ายทุกจุดให้สามารถรองรับถุงขยะ 4 ประเภท คือ ขยะเศษอาหาร ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย.
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 มิ.ย. 2566