ตั้งงบฯปี 2567 ไว้ 9 หมื่นล้าน ทำแบบงบฯฐานศูนย์ เน้นเส้นเลือดฝอย-โครงสร้างพื้นฐานแก้น้ำท่วม-ปรับโฉมการศึกษารร.กทม.
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษา ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงบริหารจัดการงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ว่า จากที่ผู้บริหารชุดนี้โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้ามาในปี 2565 ได้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ไว้แล้ว เราได้ทำงบเพิ่มเติม ปี 2565 ประมาณ 7,500 ล้านบาท และงบเพิ่มเติม ปี 2566 เกือบ 10,000 ล้านบาท มากที่สุดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งใช้ลงไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับเส้นเลือดฝอย เน้นไปที่การระบายน้ำแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วม สำนักการ ระบายน้ำมากที่สุด 3,884 ล้านบาท รองลงมา งานด้านโยธา สำนักการโยธา 2,572 ล้านบาท ด้านการแพทย์ สำนักการแพทย์ 308 ล้านบาท และสำนักอื่นๆ รวมแล้ว 7,061 ล้านบาท ส่วน สำนักงานเขต กลุ่มกรุงเทพตะวันออก มากที่สุด 954 ล้านบาท รองลงมา กรุงธนใต้ 830 ล้านบาท กรุงเทพเหนือ 520 ล้านบาท รวม 6 กลุ่มเขต 2,671 ล้านบาท
“จะเห็นได้ว่าการบริหารงบประมาณของผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะให้ความสำคัญไปที่เส้นเลือดฝอย เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เงินจะลงไปในพื้นที่เขตต่างๆ ตามความต้องการในการพัฒนามากที่สุด จากที่ผ่านมาเขตจะได้งบประมาณเขตละ 10 ล้านบาท เฉพาะงบเพิ่มเติมปี 2566 ที่เพิ่งผ่านสภากทม.ไป เขตได้รวมเกือบ 3,000 ล้านบาท เป็นงบที่จะลงไปที่เขตพัฒนาพื้นที่แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะพลิกสถานการณ์เส้นเลือดฝอยอย่างชัดเจน เป็นเป้าหมายที่ผู้ว่าฯวางไว้ โดยงบประมาณประจำปี 2567 ตั้งไว้ 90,000 ล้านบาท ก็จะยังคงเน้นไปในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเส้นเลือดฝอยเช่นกัน” ปธ.ที่ปรึกษา ต่อศักดิ์ กล่าวและว่า
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามหลักการบริหารงบประมาณ จะต้องจัดทำงบประมาณสมดุลกับประมาณการรายรับ ซึ่งเราคาดการณ์จะมีรายรับประมาณ 100,000 ล้านบาท จึงได้ตั้งงบประมาณปี 2567 ไว้ 90,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีการตั้งงบประมาณ ของกรุงเทพมหานคร โดยที่มากสุดในปี 2563 จำนวน 83,000 ล้านบาท และในปี 2567นี้ จะมีการปรับโยกงบประมาณไปลงที่เขตมากขึ้น และงานยุทธศาสตร์โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เน้นการระบายน้ำเชื่อจะทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯได้ รวมถึงถนน ทางเท้า สะพาน ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายรถเมล์ ท่าเรือ เน้นเส้นเลือดฝอยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังจะเน้นงานด้านการศึกษาที่จะจัดระบบการศึกษาใหม่ให้มีทั้งการศึกษาและการเรียนรู้ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน
เราจะไม่เน้นโครงการใหญ่ที่มีงบผูกพัน เดิมมีโครงการที่มีงบผูกพันมากรวมกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นปัญหาที่ทำให้ไม่มีงบไปใช้ในด้านอื่นๆ เราก็ได้ปรับลดลงให้มีเฉพาะที่จะทำได้จริง ทำให้เหลืองบประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท ได้มาเป็นงบลงทุนด้านอื่นๆ นอกจากนี้ในการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะเป็นครั้งแรกที่ใช้กระบวนการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ Zero-based budgeting และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน คือ คิดจากความ ต้องการของประชาชนหรือปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่คิดแบบบริบททดแทนแบบเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างหน่วยงานจัดทำจะนำเข้าสภากทม.พิจารณาใน 2 เดือนนี้
บรรยายใต้ภาพ
ต่อศักดิ์ โชติมงคล ปธ.ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 4 พ.ค. 2566