ย่านพระโขนง-บางนา ถือเป็นพื้นที่สีเขียวรั้งท้ายกรุงเทพฯ จากข้อมูลมีพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรในย่านน้อยกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 9.0 ตร.ม.ต่อคน แต่เขตพระโขนงอยู่ที่ 3.4 ตร.ม.ต่อคน ส่วนเขตบางนาอยู่ที่ 5.0 ตร.ม.ต่อคน โดยมีระยะเข้าถึงสวนเฉลี่ย 2.5 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองย่านสำคัญยังมีโอกาสจากพื้นที่รอการพัฒนา จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่ดินที่ว่างเปล่ารอการพัฒนาในย่านพระโขนง-บางนา พบว่ามีจำนวนกว่า 380 แปลง พื้นที่รวมกว่า 4,000 ไร่ จากที่ดินขนาดใหญ่ที่มีการใช้ประโยชน์น้อย และที่ดินขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังไม่มีการพัฒนา
คูคลองถือเป็นอีกสินทรัพย์ในย่านพระโขนง-บางนา เป็นย่านที่มีโอกาสจากพื้นที่คูคลองจำนวนมาก มีคลองหลักมากกว่า 9 คลอง ความยาวรวมกันมากกว่า 53 กิโลเมตร ซึ่งคูคลองของย่านสามารถพลิกฟื้นและพัฒนาสู่การเป็นเส้นทางการเชื่อมต่อพื้นที่สุขภาวะสำหรับพักผ่อน ลดสภาพแวดล้อมความไม่น่าอยู่ของย่าน
แม้สองย่านสามารถเข้าถึงได้จากคมนาคมทุกระบบ แต่เดินได้เพียงรอบพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าและปากซอย จากลักษณะของพื้นที่เป็นซอยทั้งลึกและตัน มีสัดส่วนพื้นที่เดินได้เพียง 8% จากพื้นที่ทั้งหมด
ย่านพระโขนง-บางนานั้นถือเป็นพื้นที่แรกทดลองเชิงนโยบาย (policy sandbox) ในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างให้ย่านพระโขนงบางนา ที่เป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่และมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แน่นอนว่ากรุงเทพมหานครเพียงหน่วยงานเดียว ไม่เพียงพอในการขับเคลื่อน ต้องอาศัยหลายภาคส่วน และจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อม
ล่าสุด ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ (UDDC-CEUS) กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานคนไทย 4.0 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน สวนผักคนเมือง safetist farm The active บ้านและสวน Room book Living Asean จัดเทศกาลพระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล : ปลูกย่าน สร้างเมือง เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนขยายผลเพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่สุขภาวะคนเมือง
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 7.6 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของกรุงเทพมหานคร ขณะที่ระยะทางการเข้าถึงสวนสาธารณะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 กิโลเมตร หรือ 50-60 นาที สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ กทม.ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุง และการปลูกต้นไม้ล้านต้น ในส่วนย่านพระโขนง-บางนา ได้จับมือกับทุกภาคส่วน จัดเทศกาลพระโขนงบางนา กรีน เฟสติวัล : ปลูกย่าน สร้างเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่การเป็นมหานครสีเขียว (Green Bangkok 2030) ให้ได้ 10 ตร.ม.ต่อคน ช่วยคนเมืองเข้าถึงพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะได้ภายในเวลา 15 นาที
“พระโขนง-บางนา โมเดล เน้นทำให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน อีกทั้งยังต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกันได้ ต้องเหมาะสมกับชีวิตของคนในพื้นที่จริงๆ มีความร่วมมือในการให้ความเห็นต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนต่อไป ถ้าภาคส่วนใดที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่เหล่านี้ ให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ด้วยกันนั้นยินดี” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
สำหรับเทศกาล “พระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล” ที่เพิ่งจบไป ณ สวนเพลินพระโขนง พื้นที่สำนักงานขนส่ง กทม. พื้นที่ 3 ชาวพระโขนงและชาวบางนา ตลอดจนคนเมืองได้พบกับกิจกรรมเสวนาสาธารณะ “ปลูกย่าน สร้างเมือง ด้วยสวน 15 นาที” รับฟังเรื่องราวและถอดบทเรียนการขับเคลื่อนและการออกแบบสวน 15 นาที ในพื้นที่ย่านพระโขนง-บางนา รับรู้ถึงการขับเคลื่อนโครงการเกษตรในเมือง และกรณีศึกษาในพื้นที่ กทม. ผ่านวงเสวนา “คิดจะปลูก ปลูกผักในกรุงเทพฯ” การสร้าง “ตลาดสีเขียว Green market” ให้คนเดินช็อปปิ้งกินของอร่อยจากผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดสาร สินค้าจากพืชผักในพื้นที่ ตลอดจนตลาดของดี ของดัง ของอร่อยจากชุมชนย่านพระโขนง-บางนา นอกจากนี้มีการส่งต่อความรู้ผ่านเวิร์กช็อป “ปรุงรสปุ๋ย ลุยปลูกผัก” เรียนรู้การเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัว และการทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารภายในบ้าน ฉบับง่ายๆ มือใหม่ก็ทำได้ ขาดไม่ได้ กิจกรรมดนตรีในสวน เพื่อผ่อนคลายผ่านเสียงเพลงและการแสดง โดยศิลปินชาวย่านพระโขนง-บางนา
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) กล่าวว่า สสส.มุ่งพัฒนาพื้นที่สุขภาวะให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม สานพลังวิชาการร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง UddC ร่วมวางผังแม่บทระดับเมือง สู่โครงการพัฒนาในระดับย่าน สร้างกระบวนการร่วมเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมสู่การปฏิบัติ การพัฒนาเมืองย่านพระโขนง-บางนา จะเป็นตัวอย่างพื้นที่สุขภาวะที่บูรณาการภาคีเครือข่ายหลากหลาย เพื่อสุขภาวะอย่างเท่าเทียมในประชากรทุกกลุ่ม ทั้งยังเป็น 1 ใน 8 พื้นที่ต้นแบบปรับปรุงที่ดินว่างเปล่าสู่พื้นที่สาธารณะ ที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการเดินเท้า ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ การจัดการพื้นที่เกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารสุขภาวะในคนเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิต กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น รักษามรดกวัฒนธรรม รวมถึงสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับย่านและระดับเมือง
ส่วนทิศทางการพัฒนาเมือง ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง UddC กล่าวว่า ย่านพระโขนงบางนา อยู่ในเขตเร่งด่วนที่มีพื้นที่สีเขียวน้อย ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาเมือง (Bangkok City Sandbox) มุ่งบูรณาการพื้นที่สุขภาวะความปลอดภัยและมั่นคงทางอาหารในเมือง เริ่มจากจัดกระบวนการออกแบบปรับปรุงร่วมกับชาวย่าน พัฒนาพื้นที่ว่างหน้าอาคารใหญ่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ให้กลายเป็นสวนสาธารณะที่มีประโยชน์ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ ผ่าน 5 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเดินเมือง 300-500 เมตร กิจกรรมดนตรีในสวน การสนับสนุนร้านค้าชุมชนและร้านค้าสีเขียว การจัดแปลงเกษตร และการเสวนาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทุกภาคส่วนมาร่วมแบ่งปัน เพื่อเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาเมืองนำไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่ย่านและเมือง อื่นๆ ต่อไป.
บรรยายใต้ภาพ
ต้นแบบปรับปรุงที่ดินว่างเปล่าสู่พื้นที่สาธารณะ
ส่งเสริมการปลูกผักในเมือง สร้างความมั่นคงอาหาร
ผลักดันเขตพระโขนงเมืองน่าอยู่ มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่
นิทรรศการปลูกย่าน สร้างเมือง ได้รับความสนใจ
โอกาสจากพื้นที่ที่รอการพัฒนา ปรับปรุง
ย่านพระโขนง-บางนา พื้นที่นำร่อง Bangkok city sandbox
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 พ.ค. 2566