กทม.ติดตามตรวจสอบโครงการคอนโดฯ ในซอยพหลโยธิน 37 อยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีชาวชุมชนพหลโยธิน 37 เขตจตุจักร คัดค้านโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมภายในซอยพหลโยธิน 37 โดยเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้อาศัยในชุมชนว่า จากการประสานข้อมูลการขออนุญาตเบื้องต้นกับสำนักงานเขตจตุจักร และตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมภายในซอยพหลโยธิน 37 พบว่า ยังไม่มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด
ส่วนความคืบหน้าการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการดังกล่าว เลขาคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) แจ้งข้อมูลยังไม่พบว่า ผู้พัฒนาโครงการฯ ยื่นเสนอรายงาน EIA เข้าสู่กระบวนการพิจารณารายงานของ คชก.กทม.เช่นกัน ทั้งนี้ การจัดทำรายงาน EIA ในส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้พัฒนาโครงการและผู้จัดทำรายงานต้องดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA หากโครงการจัดทำรายงานไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ คชก.กทม.จะไม่ให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EIA
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบผู้พัฒนาโครงการยื่นเสนอรายงาน EIA โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในซอยพหลโยธิน 37 เขตจตุจักร เข้าสู่กระบวนการพิจารณารายงานของ คชก.กทม.แต่อย่างใด ในชั้นนี้จึงยังไม่มีข้อมูลและรายละเอียดของรายงาน EIA
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร ลักษณะของโครงการ ประกอบด้วย อาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารชุด) ความสูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น (ถังเก็บน้ำใต้ดินและช่องจอดรถยนต์อัตโนมัติ) จำนวน 1 อาคาร มีจำนวนห้องชุดทั้งหมด 230 ห้อง และที่จอดรถตามกฎหมายกำหนด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและยังไม่ได้ก่อสร้างอาคารแต่อย่างใด
กทม.ประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคเร่งจัดระเบียบสายไฟ – สายสื่อสาร
นางสาวเสาวลักษณ์ วยะนันทน์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง กทม.กล่าวกรณีมีการเผยแพร่ภาพสายไฟฟ้า-สายสื่อสารในซอยมิสทีน เขตสะพานสูง มีสภาพห้อยระโยงระยางในระดับสายตา เกรงจะเป็นอันตรายกับผู้สัญจรว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าว พบสายสื่อสารบางส่วนตกหล่นลงมาอยู่บนพื้น จึงได้สั่งการหน่วยเบสท์ (Best) เข้าจัดเก็บเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมอบหมายฝ่ายโยธาประสานสำนักการโยธา กทม.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงานเขตลาดกระบัง และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าแก้ไขจัดระเบียบสายไฟ-สายสื่อสารในซอยมิสทีนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางสัญจร
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบว่า เป็นสายสื่อสารของหน่วยงานโอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งควบคุมและอนุญาตโดยสำนักงาน กสทช. ทั้งนี้ จะได้ประสาน กสทช.ให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนต่อไป ส่วนบริเวณอื่น ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนย.ได้จัดประชุมร่วมกับ กฟน. สำนักงาน กสทช. หลายครั้ง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขและจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารให้เรียบร้อยและไม่เป็นอันตรายกับผู้สัญจร ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้เสนอแผนการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 จำนวน 230 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 604 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ
กทม.บูรณาการเร่งแก้ปัญหาระบบระบายน้ำในซอยบางนา – ตราด 23 ทั้งระยะสั้น – ระยะยาว
นางสาวโศรยา วัธชนะ ผู้อำนวยการเขตบางนา กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์ปัญหาน้ำท่วมขังในซอยบางนา-ตราด 23 ข้างเซ็นทรัล บางนาว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณซอยบางนา – ตราด 23 ซึ่งเป็นซอยส่วนบุคคล โดยบริษัทที่เป็นเจ้าของได้มีสัญญาให้ กทม.ใช้สอยทรัพย์สินได้เมื่อวันที่ 22 ม.ค.53 ทั้งนี้ กทม.ได้ปรับปรุงผิวจราจรและท่อระบายน้ำแล้วบางส่วน เหลือเพียงบริเวณที่พบปัญหาความยาวประมาณ 100 เมตร สภาพผิวจราจรมีระดับต่ำ ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กอยู่ในสภาพอุดตัน และเป็นรูปแบบท่อของเอกชนเดิม โดยการระบายน้ำจะต้องผ่านระบบระบายน้ำของเซ็นทรัล บางนา ซึ่งขณะนี้เครื่องสูบน้ำชำรุด อยู่ระหว่างซ่อมแซม ประกอบกับมีการปลูกสร้างอาคารในพื้นที่จำนวนมาก จึงไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่ต้องระบายออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาระบบระบายดังกล่าว สำนักงานเขตฯ ได้ประชุมร่วมกับสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา แขวงทางหลวงสมุทรปราการ และบริษัทห้างร้านที่ใช้สอยบริเวณซอยบางนา – ตราด 23 โดยมีมติที่ประชุม ดังนี้ (1) บริษัทห้างร้านที่ใช้สอยบริเวณซอยบางนา – ตราด 23 จะมีแผนร่วมกันจัดจ้างเอกชนเข้าดำเนินการล้างทำความสะอาด ท่อระบายน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ (2) สำนักการระบายน้ำจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อสูบน้ำลงสู่คลองหลอด กม.3 พร้อมเร่งพร่องน้ำในคลองบางนาและคลองหลอด กม.3 ซึ่งเป็นคลองสายหลักที่ใช้ระบายน้ำของพื้นที่ (3) แขวงทางหลวงสมุทรปราการได้จัดทำแผนการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจรและท่อระบายน้ำถนนเทพรัตน ช่วงตั้งแต่หน้าห้างบิ๊กซีบางนา – คลองหลอด กม.3 โดยจะเชื่อมท่อระบายน้ำซอยบางนา – ตราด 23 เข้าในระบบ คาดว่าจะได้รับงบประมาณในปี 2567 (4) สำนักงานเขตฯ สำรวจถนนภายในซอยบางนา – ตราด 23 จัดทำรูปแบบและรายการ เพื่อของบประมาณปรับปรุงผิวจราจรและท่อระบายน้ำในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้าทำความสะอาดจัดเก็บขยะที่อุดตันหน้าตะแกรงช่องรับน้ำ พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์เข้มงวดกวดขันไม่ให้ผู้ค้าในบริเวณซอยบางนา – ตราด 23 ทิ้งขยะบนผิวจราจรและทางเท้า เพื่อลดปัญหาขยะอุดตันภายในท่อระบายน้ำ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจอำนวยความสะดวกการจราจรและจัดรถรับส่ง คอยช่วยเหลือประชาชนในการเดินทาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกเมื่อเช้าวันที่ 30 เม.ย.66 ปริมาณฝนสูงสุดที่วัดได้บริเวณจุดวัดคลองบางนา ถนนศรีนครินทร์ เขตบางนา ปริมาณฝน 55.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้ซอยบางนา – ตราด 23 หรือซอยข้างเซ็นทรัล บางนา ที่มีพื้นที่ลักษณะทางกายภาพภายในซอยมีระดับต่ำ ประกอบกับเครื่องสูบน้ำของเซ็นทรัล บางนา ชำรุด ไม่สามารถใช้การได้ และอยู่ระหว่างการจัดซ่อม ทำให้ไม่สามารถสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ในซอยดังกล่าวได้ ในเบื้องต้น สนน.ร่วมกับสำนักงานเขตบางนาจัดเจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชั่วคราว โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำชนิดดีเซลขนาด 8 นิ้ว ติดตั้งบริเวณปากซอย เพื่อช่วยสูบระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากในซอย พร้อมทั้งสนับสนุนรถสูบน้ำโมบายยูนิคเข้าสูบน้ำในวันที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง
สำหรับปัญหาน้ำท่วมซอยบางนา-ตราด 23 หรือซอยข้างเซ็นทรัลบางนาที่เกิดจากพื้นที่ภายในซอยมีระดับต่ำและเครื่องสูบน้ำของเซ็นทรัล บางนา ชำรุดไม่สามารถใช้งาน ภายในซอยยังเป็นพื้นที่ของเอกชนรับผิดชอบดูแลอยู่และยังไม่ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะสั้น สนน.และสำนักงานเขตบางนา ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ประกอบการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำและเร่งจัดซ่อมเครื่องสูบน้ำที่ชำรุดให้สามารถใช้งานได้ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนนี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ต้องปรับปรุงท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถรับปริมาณฝนได้มากกว่าในปัจจุบัน พร้อมกับยกระดับถนนให้มีระดับสูงขึ้น