กทม.เสวนา “เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย” คนกรุงเทพฯพร้อมหรือยัง
วันที่ 25 เม.ย.2566 กรุงเทพมหานครจัดเสวนา Facebook live “เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย” ในหัวข้อเลือกตั้ง 66 เตรียมตัวพร้อมหรือยัง โดยมีนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมเสวนา ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า)
นายชาตรี รองปลัดกทม. กล่าวถึงการ เตรียมความพร้อมการสนับสนุนการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้เตรียมความพร้อมใน 4 ด้านหลัก คือ 1.ด้านบุคลากร มากกว่า 86,000 คน ตั้งแต่วันรับสมัคร รวมถึงเป็นคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,327 หน่วย เป็นต้น 2.ด้านสถานที่ ตั้งแต่วัน รับสมัคร สถานที่ใช้เป็นหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 6,327 หน่วย ฯลฯ
3.ด้านวัสดุอุปกรณ์ สนับสนุนตั้งแต่วันรับสมัคร วันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม รวมทั้งส่วนการประมวลผลการเลือกตั้ง และ 4.ด้านการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้พี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิโดยจัดทำแผ่นพับใบปลิว ป้ายไวนิล เสื้อและหมวก ให้ทั้ง 50 เขต เพื่อนำไปใช้ในการรณรงค์ และสนับสนุนสถานที่ลานคนเมือง ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ใช้จัดกิจกรรม Big Day ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้
ในส่วนของการนับคะแนน ที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญนั้น การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ผลคะแนนจะส่งทางออนไลน์ไปยังส่วนกลาง โดยสำนัก ยุทธศาสตร์และประเมินผล จะรวบรวมผลคะแนน ส่วนแบบรายงานผลการนับคะแนน ทางเขตเลือกตั้ง จะนำส่งไปยังห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. ซึ่งเป็นศูนย์ประมวลผลกลาง คาดว่าจะรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้ประมาณ 21.00 น. นอกจากนี้ ฝากเตือน ผู้ไปใช้สิทธิ ระมัดระวังไม่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่น ฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือถ่ายรูปบัตรที่ลงคะแนนแล้ว หรือกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง จะมีความผิดตามกฎหมาย และหากพบการทุจริตการเลือกตั้ง เบื้องต้นแจ้งมาที่กทม.ได้ หรือจะแจ้งไปที่ กกต. ซึ่งมีหน้าที่สืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีกับ ผู้กระทำผิด
ด้านรองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงผลการสำรวจประชาชน กทม. พร้อมหรือยัง ในการเลือกตั้ง 66 ว่า ผลสำรวจเบื้องต้น คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจกับการเลือกตั้งระดับปานกลาง คงต้องรณรงค์มากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าจะเลือกใคร ปัจจัยที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ ไปเลือกตั้ง เรียงตามลำดับ คือ พรรคการเมือง รองลงมาคือหัวหน้าพรรค นโยบาย และสุดท้ายคือผู้สมัคร ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ส่วนตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนกรุงเทพฯให้ความสำคัญในลำดับที่ 6 ในส่วนการเตรียมพร้อมในการไปเลือกตั้งมีความพร้อมมาก รู้ว่าจะไปเลือกใครอยู่พรรคไหน และคนกรุงเทพฯ ชอบนโยบายพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ชอบพรรครัฐบาล คนกรุงเทพฯ มีความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารจาก ป้ายเป็นลำดับแรก
แบบ 2 รองลงมาจากโทรทัศน์ และสื่อโซเชียล และ 1 ใน 5 ของคนกรุงเทพฯ ติดตามการหาเสียง อีกครึ่งหนึ่งติดตามน้อย และในส่วนของการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่กฎกติกาเปลี่ยนแปลงไป คนกรุงเทพฯ 80% ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ ต้องประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้
บรรยายใต้ภาพ
พร้อมจัด : ว่าที่ ร.ต.เดชาธร แสงอำนาจ ผอ.เขตธนบุรี เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 โดยมี สายชล จังสมยา และ บำรุง สำเนียงงาม ผช.ผอ.เขต คณะผู้บริหารเขต และเจ้าหน้าที่ ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมเขตธนบุรี
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 เม.ย. 2566