กทม.เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด 19 หลังสงกรานต์
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม.กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้รณรงค์เน้นย้ำและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคและมาตรการสุขลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ รวมถึงเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง 7 วัน หลังเดินทางกลับจากท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลีกเลี่ยงสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัวให้ตรวจด้วยชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) หากตรวจแล้วผลเป็นบวก ให้เข้ารับการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเอง ทั้งนี้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้จัด เตรียมยา เวชภัณฑ์รักษาโรคโควิด 19 ไว้อย่างเพียงพอ รวมทั้งได้เปิดให้บริการคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ระหว่างเวลา 08.00 – 12.00 น. วันจันทร์ – ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมเตียงและบุคลากรทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นภายหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง รวมถึงจัดทีมสหสาขาวิชาชีพติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง เฝ้าติดตามอาการตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเป็นอีกอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อติดเชื้อโควิด 19 หรือเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม ทำให้มีเชื้อโรคกระจายมายังเยื่อบุตา อย่างไรก็ตาม อาการเยื่อบุตาอักเสบ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเด็กมากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง มักเป็นเพียงเยื่อบุตาอักเสบที่คล้ายจากไวรัสชนิดอื่น ๆ รักษาโดยให้ยาลดอาการและประคับประคองก็จะดีขึ้น วิธีตรวจสอบว่า เป็นโรคภูมิแพ้ดวงตา หรือติดเชื้อโควิด 19 ให้ตรวจที่ดวงตา หากดวงตามีอาการแดง น้ำตาไหล และมีอาการคัน เคืองตา ถือเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ดวงตา หากติดเชื้อโควิด 19 จะไม่ทำให้ดวงตาคันเคือง หรือมีน้ำตาไหล ความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้ดวงตากับโรคโควิด 19 คือ อาการไข้ หากเป็นภูมิแพ้ดวงตาจะไม่มีอาการไข้เหมือนผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ส่วนใหญ่จะมีอาการ
ทั้งนี้ หลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ขอให้ประชาชนตรวจคัดกรองตนเองก่อนเริ่มปฏิบัติงาน เช่น การตรวจด้วยวิธี ATK หรือ RT-PCR หากมีผลบวกจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเฝ้าระวังอาการตนเองที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หากมีอาการดังกล่าวให้เร่งตรวจคัดกรองตนเอง หากผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือเมื่อมีอาการ ช่วงสังเกตอาการให้เลี่ยงพบผู้คน สวมหน้ากากตลอดเวลา และใช้มาตรการ Work from Home ในช่วง 7 วันหลังกลับจากสถานที่ต่างจังหวัด หากผลตรวจเป็นบวก กรณีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ) แยกกักตัวที่บ้านแบบ “เจอ แจก จบ” หรือรักษาที่บ้าน (Home Isolation) กลุ่มสีเหลือง สีแดง ส่งต่อโรงพยาบาลที่สามารถดูแล โดยใช้สิทธิ UCEP Plus อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกคนป้องกันตนเองและคนในครอบครัว โดยเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง DMHTT และ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด
กทม.วางแผนสร้างแนวคันหิน 4.7 กม.ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนของ กทม.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่เขตบางขุนเทียนว่า สนน.ได้เตรียมวางแผนการก่อสร้างคันหิน ความยาว 4.7 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ตามโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนและศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นแนวป้องกันและที่ดักดินตะกอนให้พันธุ์ไม้ป่าชายเลนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2567 เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะปลูกป่าชายเลนหลังคันหินให้เต็มพื้นที่ 572 ไร่ เพื่อเสริมป่าชายเลนแผ่ขยายรวดเร็วขึ้น ช่วยยึดดินและป้องกันการกัดเซาะได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ระยะเวลาปลูก 2 ปี และดูแลซ่อมเสริมต่ออีก 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีการปักไม้ไผ่ความยาว 1 กิโลเมตร เพื่อลดความเร็วของกระแสน้ำที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมการปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นิคมสหกรณ์บ้านไร่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งสร้างศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยรูปแบบเป็นการทำแนวทางเดินสะพานไม้ไผ่ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อให้สามารถสัมผัสกับระบบนิเวศน์ป่าชายเลนบางขุนเทียนได้อย่างใกล้ชิด
กทม.บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นกลุ่มเสี่ยง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง – ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด 19 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ร่วมกับสำนักอนามัย ให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นแก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ กลุ่มติดบ้านติดเตียงในระบบเครือข่ายศูนย์ส่งต่อเพื่อการพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน (BMA Homeward Referral) ในชุมชน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มผู้สูงอายุที่ดูแลโดยผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ผ่านการอบรม นอกจากนั้น ยังได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังรับวัคซีนไม่ครบ เพื่อรวมกลุ่มและนัดวันลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์พร้อมดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรงและทีมสหสาขาวิชาชีพติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยขาดการดูแลรักษาให้ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ หรือหากต้องการรถฉุกเฉินทางการแพทย์ให้ประสานสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลักทั่วกรุงเทพฯ โดยขณะนี้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลัก รวมถึงยาต้านไวรัสยังมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ด้วยการฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB (Long Acting Antibody) เพื่อป้องกันการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการฉีดวัคซีนชนิด Bivalent เพิ่มอีก 1 ชนิด และได้สำรองวัคซีนโควิด 19 ทุกประเภทไว้อย่างเพียงพอ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนตลอดเดือน มี.ค. – เม.ย.นี้ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 – 6 เดือนตามความสมัครใจ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และ Walk in ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ.ได้ประชาสัมพันธ์มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อประชาสัมพันธ์ อาสาสมัคร ประธานชุมชน แจ้งข่าวในชุมชน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล การฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามกำหนด การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมของยา เวชภัณฑ์ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามการคาดการณ์อาจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์