กทม.ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงหัวหน้าฝ่ายรายได้เขตราชเทวีรีด 3.2 ล้าน แลกเลี่ยงภาษี 40 ล้าน ชี้ถ้าผลสอบผิดจริงมี 2 ทางเลือก ปลดออก-ไล่ออก ปปป.ให้ประกันตัว เผยหลักฐานเชื่อมโยงอีกหลายคน เร่งขยายผล
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กรณีหัวหน้าฝ่ายรายได้ เขตราชเทวี เรียกรับผลประโยชน์ 3.2 ล้านบาท แลกกับไม่เสียภาษีโรงเรือน 40 ล้านบาทว่า ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยมีผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ที่ดูแลพื้นที่เขตราชเทวีเป็นประธานคณะกรรมการสอบ โดยมีการกำหนดกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย 120 วัน ในวันนี้ได้ทำหนังสือถึงชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ขอความเห็นชอบย้ายข้าราชการรายนี้มาประจำที่สำนักปลัดกรุงเทพมหานครเพื่อรอการสอบข้อเท็จจริง และภายในวันที่ 7 เมษายนนี้จะลงนามคำสั่งพักราชการจนกว่าการสอบสวนจะสิ้นสุด ระหว่างนี้เจ้าตัวจะไม่ได้รับเงินเดือน หากผลการสอบสวนออกมาแล้วไม่มีความผิดกลับไปปฏิบัติงานเช่นเดิม พร้อมได้รับเงินเดือน แต่หากมีความผิดจะลงโทษทางวินัย ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ ปลดออก กับไล่ออก
ส่วนคำกล่าวอ้างของข้าราชการคนดังกล่าวที่ระบุว่าจะต้องนำเงินไปแบ่งให้กับคณะกรรมการรายอื่นนั้น นายขจิตกล่าวว่า ต้องอยู่ในการสอบสวนของคณะกรรมการที่จะต้องสืบไปในประเด็นต่างๆ หากผลขยายไปถึงใครต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตามเรื่องการปราบปรามทุจริตเป็นหนึ่งในโยบายหลักของผู้ว่าฯกทม.ที่ต้องการให้ กทม.มีความโปร่งใส ยุติธรรม แต่ที่ผ่านมาดูจากสถิติเรื่องทุจริตมีมาเรื่อยๆ โดยผลสอบเมื่อเร็วๆ นี้ มี 2 เคส คือ ฝ่ายโยธาเขต และข้าราชการครูและบุคลากรโรงเรียน กทม. ที่ถูกดำเนินการให้ออกจากราชการไปเรียบร้อยแล้ว
นายขจิตกล่าวด้วยว่า หากถามถึงช่องโหว่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ตนไม่แน่ใจ เพราะเป็นเรื่องของคนทั้งสองฝ่าย แต่ขณะนี้ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.ได้ให้ปรับแก้ข้อกฎหมาย ระเบียบกรุงเทพมหานครทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องวิธีการติดต่อราชการ เพื่อให้รัดกุมยิ่งขึ้น ต่อไปหาก พ.ร.บ.อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 7 ก.ย.นี้ คาดว่าเรื่องการทุจริตจะหมดไปมาก
ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การจับกุมเมื่อวานไม่ได้มีการบอกล่วงหน้า เพราะเป็นความลับ แต่หลังจากการจับกุมแล้ว กทม.ก็ได้ดำเนินการทางวินัย โดยย้ายเข้ามาสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ที่เตรียมตำแหน่งว่างไว้สำหรับบุคคลที่มีปัญหา 20 ที่ เหตุที่ไม่ได้ดำเนินการพักงานทันที เพราะยังหาคนมาทดแทนไม่ได้ ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบต่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการคนอื่นด้วยหรือไม่
“ผมพูดมาหลายหน 2 เดือนที่ผ่านมาพูดตลอด เราได้เบาะแสมาตลอด ให้รองปลัด กทม.และที่ปรึกษาฯไปย้ำและให้ระวัง เราไม่ได้สงสารคนที่ทำผิด แต่เราสงสารครอบครัวเขา เพราะจะมีผลกระทบต่อครอบครัวเยอะ ย้ำว่าอย่าทำเรื่องแบบนี้ มันผิดกฎหมาย” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันเรื่องการทุจริตจากฝ่ายรายได้ เป็นการใช้วิจารณญาณจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการ กทม.สูง ร่วมกับฝ่ายตรวจสอบภายใน เข้าไปช่วยดูการจัดเก็บรายได้ เช่น ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าตรงตามระเบียบหรือ
ไม่ ซึ่งจะช่วยลดช่องโหว่ตรงนี้มากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจัง ว่ากันตามข้อเท็จจริง เชื่อว่าคน กทม.ส่วนใหญ่เป็นคนดี อาจจะมีคนไม่ดีอยู่ พยายามเอาออกไปให้ได้ นอกจากนี้ ไม่ได้มีผลกระทบเพียงผู้กระทำเพียงคนเดียว แต่ยังกระทบต่อองค์กรและเดือดร้อนถึงบุคคลในครอบครัว ซึ่งเรื่องแบบนี้ตนส่งสารคนในครอบครัวมากกว่าผู้กระทำผิด
ด้าน นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัด กทม. กล่าวว่า ศตท.กทม.ได้มีการประสานกับทาง ปปท.ปปช.อีก 3 เคส ส่วนเรื่องทุจริตที่มีการร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ ทาง กทม.ได้ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.ต่อไป ส่วนการร้องเรียนทุจริตอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของฝ่ายโยธา และฝ่ายเทศกิจ
ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนหัวหน้าฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตราชเทวี ที่มีพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์ 3.2 ล้านบาท จากผู้เสียหายแลกกับการเลี่ยงจ่ายภาษี 40 ล้านบาท โดยระบุว่า จากการสอบปากคำหัวหน้าฝ่าย รายได้ยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้วางหลักทรัพย์เงินสด 4 แสนบาท เพื่อยื่นขอประกันตัวไป พนักงานสอบสวนจึงอนุญาตให้ประกันตัว
อย่างไรก็ตาม จากพยานหลักฐานที่ตรวจยึดได้ ทั้งสมุดบันทึกและเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบความเชื่อมโยงไปอีกหลายบุคคล และดูเหมือนมีผู้ที่ถูกเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการไม่จ่ายภาษีจำนวนสูงเช่นนี้อีกหลายคน ซึ่งตำรวจจะต้องขยายผลเส้นทางการเงิน และเรียกบุคคลเหล่านี้มาให้ปากคำว่าจะให้การอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ แนวทางการสืบสวนยังเชื่อว่าหัวหน้าฝ่ายรายได้คนดังกล่าวไม่ได้ก่อเหตุเพียงคนเดียว น่าจะมีผู้อื่นร่วมด้วย ซึ่งตำรวจก็กำลังขยายผลติดตาม หากพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงบุคคลใด ก็จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด จากนั้นก็จะสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 7 เม.ย. 2566 (กรอบบ่าย)