หน.ฝ่ายรายได้เขตราชเทวีเรียกรับ3.2ล.
“ชัชชาติ” สั่งย้าย หน.ฝ่ายรายได้เขตราชเทวี เข้ากรุ แถมตั้งโต๊ะสอบวินัยร้ายแรง ลั่นผิดจริง ไล่พ้นชีวิตราชการ แจงชัดไม่ใช่เชือดไก่ให้ลิงดูแน่ พ้อสงสารครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา พร้อมฝากเตือนทุกสำนักงานเขต ขออย่าให้เจออีก ย้ำเป็นข้าแผ่นดินต้องมือสะอาด ด้านผู้ต้องหาหอบ 4 แสนบาท ประกันตัวสู้คดีฉ้อราษฎร์บังหลวง เรียกรับสินบน 3.2 ล้าน แลกเลี่ยงเก็บภาษี 40 ล้าน เชื่อไม่หนีแน่ ไฟเขียวให้อิสระ
กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหา นคร (กทม.) วางแผนการล่อซื้อจับกุมนายประมวล แสงแก้วศรี อายุ 57 ปี หัวหน้าฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตราชเทวี
หลังรับแจ้งความและได้รับการร้องเรียนถึงพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงเรียกรับเงินสินบน 3.2 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเลี่ยงชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประมาณ 40 กว่าล้านบาท แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นเงินและคิดว่าเป็นเพียงซองเอกสารเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดชัดเจนจึงแจ้งข้อหา “เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์โดยมิชอบเพื่อกระทำการมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 5 เม.ย. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. กล่าวถึงคดีดังกล่าวว่า จากการสอบปากคำอย่างละเอียดทางผู้ต้องหายังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้วางหลักทรัพย์เงินสด 4 แสนบาทเพื่อยื่นขอประกันตัวไป ซึ่งพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วไม่พบพฤติกรรมหลบหนีจึงอนุญาตให้ประกันตัวไป อย่างไรก็ตามจากพยานหลักฐานที่ตรวจยึดได้ทั้งสมุดบันทึกและเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบความเชื่อมโยงไปอีกหลายบุคคล
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่อว่า ทั้งจากการสืบสวนเชิงลึกยังพบว่ามีผู้ที่ถูกเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการไม่จ่ายภาษีจำนวนสูงเช่นนี้อีกหลายราย ซึ่งตำรวจคงจะต้องเร่งขยายผลเส้นทางการเงิน และเรียกบุคคลเหล่านี้มาให้ปากคำว่าจะให้การอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ตามแนวทางการสืบสวนยังเชื่อว่าผู้ต้องหารายนี้ไม่ได้ก่อเหตุเพียงคนเดียวแน่ ยืนยันว่าหากพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงใครจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด จากนั้นจึงจะสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป
ส่วนที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.2) เขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ ส่วนตัวยอมรับว่าที่ผ่านมาเคยได้รับการประสานร้องเรียนจากบริษัทผู้เสียหายเข้ามาเมื่อ 2 เดือนก่อน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งให้มีการค้นหาความจริงทันที แต่ตอนนั้นยังไม่มีพยานหลักฐานที่จะดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ในทันที อีกทั้งหากจะแก้ปัญหาโดยการย้ายไปอยู่ อีกสำนักงานเขตอื่นจะถือเป็นไปสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดีอีกที่หนึ่ง เพราะก็คงกลับไปทำเรื่องดังกล่าวอีก ประกอบกับ กทม.ไม่มีอำนาจดำเนินการทางคดีอาญา จึงจำเป็นต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการแทน
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการทางวินัยของ กทม. มีขั้นตอนดังนี้คือจะให้นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบทางวินัยร้ายแรง และจะมีการโยกย้ายผู้ถูกกล่าวหาให้เข้ามายังสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร โดยให้มาอยู่ในส่วนของตำแหน่งที่มีการสงวนว่างไว้ 20 ตำแหน่ง เพื่อย้ายข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญในระหว่างที่รอการตรวจสอบ โดยไม่ได้รับเงินเดือน ยืนยันว่าเรื่องการทุจริตการจัดเก็บรายได้เพิ่งพบเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้เคยพบแต่การทุจริตในฝ่ายโยธามากกว่า
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวอยากชี้แจงว่าตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาได้มีการกำชับเรื่องนี้มาตลอด โดยเฉพาะสำนักงานเขตราชเทวี ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักงานที่มีการตักเตือนเรื่องการทุจริตภายในองค์กร เพราะว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีผลกระทบเพียงผู้กระทำเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อองค์กรและเดือดร้อนถึงบุคคลในครอบครัวด้วย ทำให้รู้สึกสงสารคนในครอบครัวของผู้ถูกกล่าวหามากกว่า
เมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นต้นเหตุในการที่ทำให้ทางสำนักงานเขตราชเทวีจัดเก็บภาษีได้น้อยจนไม่ติดอันดับ 1 ใน 4 หรือไม่นั้นทั้งที่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน นายชัชชาติ ชี้แจงว่า คงต้องขอกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกสร้างเกือบเต็มหมดแล้ว จึงไม่ค่อยมีการก่อสร้างอาคารใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจึงอยู่ในเกณฑ์ของอาคารเก่า แต่เพื่อความชัดเจนคงต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย ที่สำคัญอยากฝากเตือนไปยังสำนักงานเขตอื่น ๆ ว่าทาง กทม.เอาจริงเอาจังในการปราบปรามทุจริต เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นตัวอย่าง ยืนยันว่าไม่ใช่การเชือดไก่ให้ลิงดู แค่อยากให้ข้าราชการทุกคนตระหนักว่า “ต้องมือสะอาด”.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 เม.ย. 2566