เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม. เป็นประธานการประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2566 โดยมี ส.ก. นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพ มหานคร เรื่องรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … เพื่อใช้บังคับในพื้นที่ของ กทม. ระบุว่า ปัจจุบัน กทม.มีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่มาจากสารมลพิษที่ปล่อยออกจากรถยนต์แบบสันดาปใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถโดยสารประจำทาง ส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองและควันกระจายทั่วไปใน กทม.และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นอันตราย เพื่อควบคุมปริมาณมลพิษที่ออกจากรถยนต์ ไม่ให้เกินเกณฑ์อันตราย จึงเห็นควรมีมาตรการกำหนดให้รถโดยสารประจำทางปรับปรุงเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด บังคับใช้ใน กทม.
“การปรับปรุงให้รถเมล์ดีขึ้นจะทำให้คน หันมาใช้เยอะขึ้น ใช้รถส่วนตัวน้อยลง ฝุ่นน้อยลง ปัญหาก็จะหายเป็นโดมิโน” นายพุทธิพัชร์ กล่าว
ด้าน นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา กล่าวว่า รถเมล์ไฟฟ้าจะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ก่อให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนที่มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถถูกลง
ส่วน น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ กล่าวว่า ข้อบัญญัติฉบับนี้จะส่งผลต่อลูกหลาน 20-30 ปี การรับหลักการจะทำให้เรามีอากาศสะอาดในอีก 7 ปี และคืนอากาศสะอาดให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคน โดยยังมี ส.ก.ที่ร่วมอภิปรายเห็นด้วยกับญัตตินี้อีกหลายราย
ต่อมา ที่ประชุมสภา กทม.ผ่านร่างข้อบัญญัติ กทม.เรื่องรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายรถเมล์อนาคตของ ส.ก.พรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนลงมติเห็นชอบ 33 คน จากที่ประชุม 38 คน และแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญ 17 คน กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ และกำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 13 เม.ย. 2566