สก.ก้าวไกลเสนอร่างข้อบัญญัติรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ลดมลภาวะในกทม. เชื่อรถเมล์ EV ลดมลพิษได้
วันที่ 12 เม.ย.2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธาน สภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. (ดินแดง) ในที่ประชุม นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(สก.)เขตยานนาวา ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … เพื่อใช้บังคับในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่มาจากสารมลพิษที่ปล่อยออกจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดหรือแบบสันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีการ เผาไหม้ภายใน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไปหรือรถโดยสารประจำทางที่ใช้ขนส่งประชาชน ส่งผลสืบเนื่องให้เกิดฝุ่นละอองและควันกระจายทั่วไปในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นอันตรายอย่างมาก เพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ออกจากรถยนต์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงเห็นควรมีมาตรการกำหนดให้รถโดยสารประจำทางปรับปรุงเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ส่งผลกระทบ ต่อมลภาวะทางอากาศ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทางเทคโนโลยีของรถยนต์ทั่วโลก บังคับใช้ในกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ลงมติเห็นชอบรับหลักการแห่งข้อบัญญัติและให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … จำนวน 17 ท่าน กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน และพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วัน
นายพุทธิพัชร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองมีความยินดีที่จะได้ยกระดับการดูแลพี่น้องประชาชน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนแปลง กทม. เพราะการเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถ EV พี่น้องประชาชนก็จะมาโดยสารรถเมล์มากขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัวลง พรรคก้าวไกล พร้อมผลักดันอย่างเต็มที่ สำหรับความกังวลว่า นโยบายจะส่งผลประทบต่อภาคธุรกิจบางส่วนนั้น จากหนึ่งปีที่มี การเว้นระยะข้อบัญญัติ รถเมล์ที่วิ่งเข้าสู่ กทม.จะเป็นรถ EV เท่านั้นโดยไม่ถือว่าเป็นการบังคับผู้ประกอบการ เนื่องจากจะมีการต่อสัญญาทุก 7 ปี ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัว อาจจะมีผู้เสียผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวบ้าง แต่ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนต้องใช้อากาศร่วมกัน ดังนั้นนโยบายรถเมล์อนาคตจึงเป็นโดมิโนตัวแรกที่จะให้ให้ปัญหามลพิษลดลง
หลังจากผ่านวาระแรก จะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาข้อบัญญัติรายข้อ และจะพยายามให้เข้าสู่วาระ 2-3 ภายในสมัยประชุมนี้ แต่ถ้าไม่ทันก็จะเข้าภายในสัปดาห์แรกของสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะให้เวลาประมาณ 50-60 วันเนื่องจากนโยบายมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเยอะจึงจำเป็นต้องมีการลงรายละเอียดค่อนข้างมาก
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 เม.ย. 2566