(10 เม.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2566 ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้เน้นย้ำ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก Big Cleaning ได้เน้นย้ำให้ทุกเขตดำเนินการเพื่อกระตุ้นในด้านของความร่วมมือจากภาคเอกชนในการดูแลพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง เพื่อความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งยังช่วยในด้านการลดฝุ่นด้วย โดยให้ทำอย่างต่อเนื่อง
● เล็งนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการเลือกตั้ง
เรื่องที่ 2 คือ เรื่องการเลือกตั้ง เน้นเรื่องความโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นกลาง ที่สำคัญคือต้องทำตามกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครต้องคิดวิธีการที่จะทำให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า โดยได้มอบหมายให้ พล.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการตั้งแต่เริ่มหย่อนบัตร การเก็บรักษาบัตรในแต่ละพื้นที่ 33 เขตเลือกตั้ง โดยจะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น ติดกล้อง CCTV ถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถดูได้ว่าไม่มีใครเข้า-ออก ถ้ามีใครไปแตะหรือขยับ ให้มีสัญญาณควบคุมเตือน เพื่อให้มั่นใจว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าอยู่ในความปลอดภัยตลอดก่อนที่จะเปิดนับ กระบวนการที่ไปรษณีย์จัดส่งบัตรเลือกตั้งมาให้กรุงเทพมหานคร ก็ต้องคุยว่าจะจัดส่งอย่างไร จัดเก็บอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขเลือกตั้งล่วงหน้าสอดคล้องกับบัตรที่ส่งมาจริง ๆ คงต้องเขียนขั้นตอนกระบวนการแล้วหารือกับ กกต. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด
สำหรับกระบวนการตั้งแต่การหาเสียง จะใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์เป็นตัวหลัก โดยจะมีเมนูย่อยเรื่องความไม่โปร่งใส ซึ่งจริง ๆ แล้วกรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการไปตรวจสอบหรือจับกุม แต่สามารถเป็นตัวกลางในการส่งเรื่องให้ กกต. ต่อได้ เช่น พบเห็นการทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง การติดป้ายเลือกตั้งกีดขวางจราจร เป็นต้น
วันเลือกตั้งก็ต้องไปคิดกระบวนการที่สร้างความมั่นใจว่าจำนวนคนที่มาใช้สิทธิ์ตรงกับบัตรที่หย่อนลงหีบ เพราะมีข้อกังวลว่าจะมีบัตรเขย่ง ทำอย่างไรให้กระบวนการนับคะแนนโปร่งใส สามารถบันทึกภาพได้ไหม กฎหมายกำหนดอย่างไร นำ AI มาช่วยในการอ่านกระดานได้ไหม เพื่อให้การนับคะแนนมีความรวดเร็วและถูกต้อง เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา คิดว่าน่าจะเป็นเป็นการเลือกตั้งที่สนุกที่มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งได้มอบหมายให้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กับประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
● ขับเคลื่อนนโยบาย 5 ด้านเพื่อคนพิการ สร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้มีเรื่องขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ทำอย่างไรให้คนพิการสามารถอยู่ในกรุงเทพฯ ได้อย่างมีความสุข ซึ่งมี 5 ด้าน ที่ทำ คือ ด้านที่ 1 คนพิการสุขภาพดี ให้คนพิการสามารถไปแจ้งจดสิทธิ์คนพิการที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครได้ ซึ่งมีคนแจ้งมาสิทธิ์ 4,133 คน มีการลงชุมชนให้บริการคนพิการทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการทางแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น มีช่องบริการ Fast Track มีการให้บริการแบบ Telemedicine ที่คนพิการจะไม่ต้องออกมาจากบ้าน ถ้าเป็นผู้ป่วยติดเตียงเจ้าหน้าที่สามารเข้าไปให้บริการได้ ด้านที่ 2 คนพิการเรียนดี ให้การศึกษาพิเศษ ให้คนพิการสามารถเรียนร่วมได้ ปัจจุบันมี 158 โรงเรียนที่คนพิการสามารถมาเรียนร่วมได้ ทั้งออทิสติกหรือนั่งวีลแชร์ มีการพัฒนาความสามารถครูให้สามารถสอนเด็กพิเศษได้
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ใน 158 โรงเรียน ยังขาดครูผู้ช่วยที่สามารถสอนการศึกษาพิเศษ จึงมีนโยบายให้ครูใน 158 โรงเรียนนี้สามารถสอนการศึกษาพิเศษได้ด้วยเลย ซึ่งจะมีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพครู รวมถึงมีการจ้างครูผู้ช่วยการศึกษาพิเศษเพิ่มเติมให้กับ 158 โรงเรียน และมีการอบรมครูให้เป็นครูการศึกษาพิเศษ โดยทำหลักสูตรให้ครูสามารถเป็นครูการศึกษาพิเศษได้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับด้านที่ 3 คือ คนพิการเศรษฐกิจดี กรุงเทพมหานครมีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 กับ 35 ซึ่งก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครมีการจ้างงานผู้พิการ 98 คน ได้มีการจ้างเพิ่มอีก 263 คน ปัจจุบันมีคนพิการทำงานอยู่ตามเขต 361 คน ถือว่าตอนนี้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มีคนพิการทำงานอยู่มากที่สุด รวมถึงมีการพัฒนา Live Chat Agent เพื่อให้คนพิการไม่ต้องเดินทางมาที่ทำงาน เป็นการเอางานไปอยู่ใกล้ ให้คนพิการมีคุณค่า
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวเสริมในเรื่องของ Live chat Agent ว่า เป็นระบบที่ให้คนพิการทำงานที่บ้านแบบ Work from Home (wfh) ได้ ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องลำบากในการเดินทางมาที่สำนักงานเขต โดยระบบจะดึงทุกข้อความซึ่งอาจจะมาจากทางเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือโทรศัพท์ มารวมอยู่ที่เดียว เมื่อมีคำถามเข้ามาคนพิการสามารถตอบคำถามได้เลย ตอนนี้มีการทดลองใช้ที่เขตภาษีเจริญและเขตบางขุนเทียน
นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า Live Chat Agent เป็นระบบสมัครใจสำหรับคนพิการที่อยากทำงานที่บ้าน ส่วนคนพิการที่อยากมาทำงานที่ทำงาน ไม่อยากอยู่กับบ้าน ก็มาทำงานตามปกติได้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ในด้านที่ 4 เป็นเรื่องของ คนพิการโครงสร้างและเดินทางดี เรามีโครงการปรับปรุงป้ายรถเมล์ รถบริการสำหรับคนพิการ การทำฟีดเดอร์ พัฒนาทางเท้า สกายวอล์ค จุดเชื่อมต่อต่าง ๆ โดยเล็งต้นแบบที่ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีระบบสาธารณสุขเยอะ อาทิ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมถึงมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง ประกอบกับย่านดังกล่าวเป็นศูนย์รวมรถต่าง ๆ ทั้งรถไฟฟ้า และรถเมล์ คาดว่าคนพิการมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เยอะ จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้คนพิการเข้าถึงบริการทางด้านการแพทย์ในย่านนั้นได้ หากเห็นผลเป็นรูปธรรม ก็จะขยายผลต่อไป
และด้านที่ 5 คนพิการบริหารจัดการดี เราได้มีการพัฒนาระบบ Line OA การเผยแพร่ความสามารถคนพิการและผลการดำเนินงานด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร การจัดทำโครงสร้างการทำงานด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร และการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกรุงเทพมหานคร
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาการสื่อสารระหว่างภาครัฐไปถึงคนพิการนั้นเป็นการสื่อสารทางเดียว จึงมีแนวคิดในการจัดทำการสื่อสารสองทาง ในรูปแบบ Line Official เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมด สิทธิพิเศษต่าง ๆ หรือบริการสำหรับคนพิการ เข้าไปในระบบ เช่น การอัปเดตเรื่องการจ้างงาน การอบรมอาชีพ เรื่องสุขภาพหรือโรงพยาบาลที่ให้บริการ เป็นต้น เพื่อเป็นช่องทางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันได้มีการพัฒนา Line OA ขึ้นมาแล้ว อยู่ระหว่างการการหารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) ในการรวมฐานข้อมูลกัน เพื่อคนพิการที่เข้ามาใช้บริการ Line OA สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการรับคนพิการเป็นข้าราชการ ปัจจุบันมีคนพิการทุกประเภทสมัครสอบกว่า 500 คน กทม.รับ 11 อัตรา โดยขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านไว้ 2 ปี ซึ่งคนที่ขึ้นบัญชีล้วนเป็นผู้มีศักยภาพ หากเอกชนต้องการจ้างคนพิการตามมาตรา 33 หรือ 35 สามารถมาขอข้อมูล database ที่เรา เพื่อทำให้คนพิการมีโอกาสเข้าถึงแหล่งงานได้ง่ายขึ้น
“ที่ผ่านมาเราทำเรื่องคนพิการเยอะมาก โดยมีท่านที่ปรึกษาฯ ภาณุมาศ เป็นผู้ผลักดันมาตลอด จะเห็นได้ว่ามีความคืบหน้าด้วยดี ซึ่งเชื่อว่าคนพิการจะมีพลังใจที่เห็นเราให้ความสำคัญ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● สั่งการรับมือฝุ่นปีหน้า หาเครื่องอัดฟางป้องกันเผาชีวมวล เดินหน้าทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องฝุ่น PM2.5 ได้สั่งให้เตรียมการสำหรับปีหน้าแล้ว โดยเราได้ลงเขตพื้นที่เกษตรกรในกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 แสนไร่ ไปดูเรื่องการจัดการชีวมวล ซึ่งปีนี้ทำได้ดี มีรายงานการเผาชีวมวลที่เกี่ยวกับเกษตรแค่ 5 จุด ถือว่าลดลง เราก็ช่วยในการหาเครื่องอัดฟางไปให้ ฉะนั้น อนาคตคงต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยประชาชนชาวเกษตรกรมากขึ้น ก็ได้สั่งการให้เตรียมงบประมาณปี 67 หาอุปกรณ์พวกนี้เพื่อลดการเผาชีวมวล รวมทั้งมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องตรวจสอบควันดำ เครื่องตรวจวัดมลพิษ การทำห้องปลอดภัยในโรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก/โรงพยาบาล เป็นต้น
● งานสงกรานต์ของกทม.ปลอดแอลกอฮอล์ ของภาคส่วนอื่นให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย
ส่วนเรื่องงานสงกรานต์ก็เดินหน้าเต็มที่ ซึ่งปีนี้ กทม.จัดงานที่ลานคนเมืองกับคลองผดุงกรุงเกษม นอกจากนี้ก็จะมีงานที่ภาครัฐและภาคเอกชนจัด ซึ่งมีหลายที่ทั่วกรุงเทพฯ รวม 198 จุด อยากให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ เช่น ลานคนเมือง คลองผดุงฯ ไอคอนสยาม เซ็นทรัลเวิลด์ สยาม หรือชุมชนต่าง ๆ เพราะปีนี้มีที่ให้เล่นเยอะ ส่วนที่สีลม กทม.ไม่ได้จัดงาน แต่ไม่ได้ห้ามให้เล่นน้ำสงกรานต์ที่สีลม เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับทุกที่ หากจะมีการเล่นน้ำกันก็ตามปกติ สำหรับเรื่องความปลอดภัยและการบริหารจัดการพื้นที่ กทม.โดยสำนักงานเขตได้มีการประสานงานกับตำรวจ หากพื้นที่ใดต้องมีการจัดการจราจร เราก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล รวมถึงได้มีการปรับมุมกล้อง CCTV เพื่อดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยในพื้นที่ด้วย
ในเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นเรื่องที่คงห้ามไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ หากเป็นงานที่กทม.จัด ก็จะไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะต้องการให้เป็นงานของครอบครัว เน้นศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้ทุกคนมาร่วมได้อย่างมีความสุข แต่ในส่วนของเอกชนหรือร้านที่ได้รับอนุญาต รวมถึงประชาชนก็สามารถบริโภคได้ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด ย้ำอีกครั้งว่า กทม.ไม่ได้จัดงานเองทั้ง 198 จุด
● ถอดบทเรียนทุจริตราชเทวี สู่การปรับกระบวนการเพื่อเก็บรายได้อย่างโปร่งใส
สำหรับกรณีทุจริตที่เขตราชเทวี ได้ให้ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ เป็นผู้ประสานงาน กรุงเทพมหานครพร้อมสนับสนุนทุกอย่าง และตั้งเป้าถอดบทเรียนจากเรื่องที่เกิดขึ้น เดินหน้าปรับปรุงกระบวนการเพื่อที่จะลดการใช้วิจารณญาณของคนใดคนหนึ่ง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการเก็บภาษี จัดทำระบบ Open Data ซึ่งเรากำลังเตรียมข้อมูล อีกส่วนหนึ่งอาจมีคณะกรรมการที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในเข้าไปตรวจการเก็บรายได้ของเขตด้วย เพราะฉะนั้น บทเรียนคงไม่ใช่แค่จับคนผิด แต่ทำอย่างไรเพื่อให้กระบวนการเราโปร่งใสขึ้นในอนาคตด้วย
—————————