(6 เม.ย. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยาพิเศษ หัวข้อ เวลาทองของการส่งเสริมพัฒนาการ กับการยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ในงาน Kind + Jugend ASEAN 2023 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการและการยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครว่า สำหรับการดูแลพัฒนาการเด็กต้องดูในหลายมุมทั้งการเรียนรู้หลักสูตรการศึกษาและต้องมีสุขภาวะที่ดีควบคู่ไปด้วยกันซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้และการเติบโตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้กทม. มีการดำเนินงานด้านการบริการและสวัสดิการของทารกและเด็กอายุ 0-2 ปี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชน 1,028 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดกทม. ในการทดสอบการตั้งครรภ์ ออกใบรับรอง ฝากครรภ์ ประเมินความเสี่ยง ตรวจสุขภาพกาย+ใจ ให้คำปรึกษา+สุขศึกษา (นักสังคมสงเคราะห์+นักจิตวิทยา) ตรวจร่างกาย ช่องปากและฟัน ประเมินภาวะโภชนาการ ติดตามพัฒนาการ ฉีดวัคซีนตามกำหนด แนะนำการเลี้ยงดู รวมถึงได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
ขณะนี้มี 274 แห่งใน 45 เขต ดูแลเด็กในพื้นที่กทม. ประมาณ 20,000 คน และสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 12 แห่ง การพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียนของกทม. จะพัฒนาความพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย โดยจัดประสบการณ์เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมโภชนาการที่ดี ประเมิน เฝ้าระวัง และส่งเสริมพัฒนาการตามวัย และการทำ EF & HI SCOPE Sandbox เป็นการทดลองนำร่องกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF (Executive Functions) พัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ พัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพ ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน นำร่องในเขตสวนหลวงซึ่งผลการประเมินออกมาค่อนข้างดี และขยายผลเขตหนองแขม 11 ศูนย์ต่อไป
แผนพัฒนาในอนาคต
กรุงเทพมหานครจะดำเนินการพัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน (กายภาพ อุปกรณ์ หลักสูตร) พัฒนาศักยภาพบุคลากรและอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง (ทักษะ สมรรถนะ สวัสดิการคำตอบแทน) เปิดศูนย์เด็กอ่อนกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ปี 67 รับเด็กอายุ 3 เดือน – 3 ปี ดูแลแบบครอบคลุมแต่จะเป็นการทดลองกับบุตรของบุคลากรของกทม. ก่อนในเบื้องต้นเพื่อดูว่ารูปแบบที่วางไว้สามารถดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎระเบียบ หากทำได้กทม. จะขยายผลต่อไป
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวทิ้งท้ายว่า ครอบครัวเป็นเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดูแลเด็ก แต่ด้วยวิถีชีวิตของแต่ละคนบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะสามารถดูแลเด็กให้พร้อมทั้งด้านสภาพแวดล้อมและอื่นๆ ในฐานะเมืองเราดูแลเด็กทุกคนเต็มที่ มอบสิ่งที่ทำให้เด็กเติบโตอย่างมีความสุข เข้าถึงบริการที่สามารถทำให้เด็กเกิดการพัฒนา สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อโตขึ้นอยากให้เด็กได้มีสิทธิเลือกสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข ทำให้ความผิดพลาดที่เด็กพบเจอกลายเป็นสิ่งที่เด็กเข้มแข็งในการผ่านความผิดพลาดนั้นมาได้ และนี่เป็นบทบาทที่สำคัญของครอบครัวและผู้บริหารเมือง
สำหรับงาน Kind + Jugend ASEAN 2023 (คิน-อัน-ยู-เก้น อาเซียน 2023) จัดขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศไทย ก้าวไปเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการซื้อขายและการเจรจาธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าแม่และเด็กของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงกลุ่มประเทศอินโดจีน อีกทั้งยังเป็นสถานที่พบปะสำหรับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์และของใช้จำเป็นสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ของเล่นเสริมพัฒนาการ โภชนาการเด็กกลุ่มสุขอนามัย-อุปกรณ์สำหรับแม่และเด็ก รถเข็น-เบาะนั่งในรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์เด็ก รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีการดูแลเด็กและกลุ่มอื่น ๆ
———————————–