Search
Close this search box.
รผว.จักกพันธุ์ ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เขตคลองสามวา

สุ่มวัดค่าฝุ่นแพลนท์ปูนวี.พี.คอนกรีต สำรวจสวน 15 นาทีริมคลองกีบหมู ชมคัดแยกขยะหมู่บ้านธีรวรณ ติดตามระบบ BMA-TAX แยกขยะเขตคลองสามวา

(3 ต.ค.66) เวลา 14.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองสามวา ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท วี.พี.คอนกรีต จำกัด ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทเคาะ ปะผุ พ่นสี 28 แห่ง ประเภทเลื่อย ตัดหิน 4 แห่ง ประเภทหม้อไอน้ำ (น้ำมันเตา) 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ขยายบ่อคายตะกอนคอนกรีตให้ใหญ่ขึ้น และตรวจสอบไม่ให้มีตะกอนล้นออกมา เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน ปรับสภาพพื้นที่ไม่ให้มีแอ่งน้ำขัง ปรับปรุงบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน และตรวจวัดควันดำรถโม่ปูนอย่างสม่ำเสมอ

สำรวจพื้นที่ว่างบริเวณริมคลองกีบหมู ใกล้มัสยิดย่ามีอะห์ (สุเหร่าคลองหนึ่ง) เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการแล้ว ได้แก่ สวนสามวาพนานุรักษ์ พื้นที่ 2 ไร่ สวนสามวาประชาสุขสันต์ ถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 82 ใกล้หมู่บ้านเนเบอร์โฮม พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา สวนเจริญสุข สุขสำราญพัฒนา บริเวณริมคลองลำแบน ชุมชนสุขสำราญพัฒนา ซอยหทัยราษฎร์ 41 พื้นที่ 1 ไร่ สวนราษฎร์ร่วมใจ ถนนราษฎร์ร่วมใจ ซอยประชาร่วมใจ 62 (แยกบาแล) พื้นที่ 3 ไร่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหมู่บ้านธีรวรณ ซอยพระยาสุเรนทร์ 6 พื้นที่ 33 ไร่ ประชากร 2,600 คน บ้านเรือน 668 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2561 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แต่ละหลังคาเรือนคัดแยกทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนที่เหลือเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล แต่ละหลังคาเรือนคัดแยก ขายเป็นรายได้เสริม 3.ขยะทั่วไป และ 4.ขยะอันตราย แต่ละหลังคาเรือนคัดแยก เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนและหลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 109,198 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 88,884 แห่ง ห้องชุด 6,138 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 204,220 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว

ส่วนการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตคลองสามวา มีข้าราชการและลูกจ้าง 631 ราย วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งจุดรองรับขยะบริเวณที่กำหนด แม่บ้านดำเนินการคัดแยก แก้ว กระดาษ ขวดพลาสติก โลหะ นำส่งร้านรับซื้อของเก่า 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งจุดรองรับขยะบริเวณที่กำหนด ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปหมักทำปุ๋ย ณ ศูนย์เรียนรู้หลังเขตฯ 3.ขยะอันตราย ตั้งจุดรองรับขยะอันตรายบริเวณชั้น 1 รวบรวมนำส่งสำนักสิ่งแวดล้อม 4.ขยะทั่วไป ตั้งจุดรองรับขยะบริเวณที่กำหนด แม่บ้านเก็บรวบรวมไว้ที่จุดพักขยะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปกำจัด

ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองสามวา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200