(3 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาหัวข้อ Metropolitan Management for Quality of Life ในงาน SX Grand Plenary ณ ห้อง Grand Plenary Hall ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สรุปโดยรวมว่า การบริหารจัดการเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จะทำอย่างไรให้คนจับต้องได้จริง ๆ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมี 2 ตัวเลขที่สำคัญ คือ 1 กับ 98 ซึ่งเลข 1 คือ เมืองที่มีคนมาเยี่ยมชมมากที่สุด คนชอบมากรุงเทพฯ แต่อยู่ไม่นาน เพราะถ้าอยู่นานก็จะรู้สึกแตกต่าง เลข 98 เป็นดัชนีความเป็นอยู่ที่ดี เป็นสิ่งที่ต้องกังวลเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต หรือว่าคุณภาพชีวิตของเราไม่ดี อย่างสิงคโปร์ทำได้ดีลำดับที่ 33 จาก 140 สต็อกโฮล์มลำดับที่ 42 จาก 140 ส่วนกรุงเทพฯ ลำดับที่ 98 จาก 140 ถ้าพูดถึงคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ได้พูดถึงมิติเดียว มีความท้าทายมากมายที่เมืองจะต้องเผชิญอยู่ เป้าหมายของเราคือต้องปรับปรุงในทุกหมวดหมู่ กรุงเทพฯ มีปัญหาหลายเรื่อง เช่น การจราจร การคมนาคม คุณภาพอากาศ น้ำท่วม การบริหารจัดการขยะ รวมถึงเรื่องพื้นที่สีเขียว กรุงเทพมหานครมีพื้นที่มากกว่าสิงคโปร์ 2 เท่า แต่มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า ถือเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน และท้ายที่สุดจะนำมาสู่ความไม่เท่าเทียม ทั้งสองสิ่งสอดคล้องกัน คุณไม่สามารถมีสังคมที่มีความยั่งยืนได้ถ้ามีความไม่เท่าเทียมกันค่อนข้างห่าง ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน ถ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีก็หมายความว่าทุกคนมีความสุข
ทั้งนี้ มีวิสัยทัศน์ คือ อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความสุขของทุกคน การบริหารจัดการเมืองให้อยู่ดีมีสุขต้องมีการแก้ปัญหาหลายอย่าง ซึ่งในการบริหารงานได้มี 9 นโยบายหลักนำทาง และมีหลายดัชนีที่อยากผลักดัน เช่น สังคม สาธารณสุข ความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมาก หากมีการเรียนรู้ที่ดีจะทำให้เกิดความยั่งยืนที่ดีขึ้น เมื่อดูปัญหาอย่างวิเคราะห์ถ่องแท้แล้วมี 4 หน้าที่หลัก คือ 1. ต้องเพิ่มการผลิต 2. ต้องปรับปรุงคุณภาพชีวิต 3. ต้องสร้างโอกาสสำหรับทุกคน และ 4. ต้องสร้างความเชื่อใจ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เมืองก็เหมือนร่างกายมนุษย์มีระบบเส้นเลือดทั้งเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง เส้นเลือดฝอย ซึ่งระบบทุกอย่างต้องดี แม้จะมีระบบเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงที่ดี แต่เส้นเลือดฝอยอ่อนแอ ระบบก็จะพัง บางครั้งนักการเมืองจะเน้นโครงการระดับใหญ่เพราะมีการใช้งบประมาณมากและน่าสนใจ แต่ต้องเน้นระบบเส้นเลือดฝอยด้วย เพราะเมื่อเส้นเลือดฝอยอ่อนแอจะนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม และเมื่อเกิดความไม่เท่าเทียมเลยอาจเป็นการเพิกเฉยต่อคนกลุ่มนี้ สิ่งที่เป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐในเรื่องความยั่งยืนคือทำให้เกิดความเท่าเทียมกันเพราะจะมีบางคนใช้กฎระเบียบที่มีไปเป็นข้อได้เปรียบของตนเอง ต้องมีการทำกฎระเบียบที่ทุกคนอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคเท่าเทียมและทุกคนทำตามกฎระเบียบจริง ๆ ด้วย
————————– (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)