(29 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ประกอบด้วย
สำรวจ Hawker Center บริเวณศูนย์อาหารตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 16 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 189 ราย ดังนี้ 1.ถนนสุทธิสารวินิฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 15 ราย 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT รัชดาภิเษก ผู้ค้า 6 ราย 3.ถนนสุทธิสาร ปากซอยอุดมสุข ผู้ค้า 12 ราย 4.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร ผู้ค้า 28 ราย 5.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/ไทยภัทร ผู้ค้า 7 ราย 6.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT ห้วยขวาง ผู้ค้า 11 ราย 7.ถนนพระราม 9 ซอย 5 ผู้ค้า 6 ราย 8.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 8 ราย 9.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 8 ราย 10.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 8 ราย 11.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 8 ราย 12.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคาร MSIG ผู้ค้า 5 ราย 13.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 13 ราย 14.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 19 ราย 15.ถนนเทียมร่วมมิตร (ขาออก) ผู้ค้า 7 ราย และ 16.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 ผู้ค้า 28 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจและพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม อาจเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับศูนย์อาหารตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 มีพื้นที่ 522 ตารางเมตร ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. รองรับผู้ค้าได้ไม่เกิน 80 ราย ไม่มีล็อคประจำ ใช้ระบบการจองล่วงหน้า ภายในศูนย์อาหารฯ มีห้องล้างจานอบฆ่าเชื้อด้วยความร้อน จุดรับคืนภาชนะพร้อมแยกเศษอาหาร จุดล้างภาชนะของผู้ค้านอกศูนย์อาหารฯ จุดทิ้งขยะ บ่อดักไขมันรวม บ่อดักไขมันแต่ละร้าน ห้องน้ำชาย-หญิง ซึ่งผู้ดูแลศูนย์อาหารฯ ดังกล่าว พร้อมให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ภายในศูนย์อาหารฯ ยังมีพื้นที่ว่างสามารถรองรับผู้ค้าประเภทอาหารได้ 6-8 ราย ผู้ค้าประเภทสินค้าทั่วไป 18-20 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อย โดยให้ยุบรวมเป็นจุดเดียวกัน รวมถึงพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในศูนย์อาหารฯ ดังกล่าว เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างบริษัท ไซมิสพระรามเก้า จำกัด ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 17 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น อาคาร B ความสูง 37 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น อาคาร C ความสูง 28 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 11 ไร่ มีครูและนักเรียน 1,660 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ กิจกรรมนำเศษอาหารจากโรงอาหารมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ เพื่อใช้ในการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรียน 2.ขยะรีไซเคิล ธนาคารขยะ ขายขยะเพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะ 3.ขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย กิจกรรมโรงเรียนปลอดขยะ และทิ้งขยะลงถังที่ได้จัดเตรียมไว้ตามจุดให้ถูกประเภท สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 550 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 480 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 525 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 590 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 59 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 14 กิโลกรัม/วัน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลผู้เสียภาษี ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การค้นหารายชื่อผู้เสียภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 26,796 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 28,381 แห่ง ห้องชุด 58,662 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 113,839 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ติดตามอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตห้วยขวาง มีข้าราชการและบุคลากร 708 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายคัดแยกขยะแล้วนำมาทิ้งยังจุดรวม ซึ่งฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ได้ตั้งวางถังขยะแยกประเภทไว้ด้านหน้าห้องน้ำ ขยะรีไซเคิลที่จัดเก็บได้ของแต่ละชั้นแม่บ้านจะนำไปจำหน่าย 2.ขยะอินทรีย์ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายคัดแยกขยะแล้วนำมาทิ้งยังจุดรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายคัดแยกขยะก่อนนำมาทิ้ง ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะรวบรวมและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช 4.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายคัดแยกขยะในฝ่าย แม่บ้านจะจัดเก็บรวบรวมนำมาทิ้งยังจุดพักขยะของเขตฯ เพื่อส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 400 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 350 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)