(28 มี.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภายนอก และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการรายงานถึงการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนและความร่วมมือดำเนินการจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหารือแนวทางดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพการบูรณาการความจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการดำเนินการและเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมีการรายงานถึงเรื่องต่าง ๆ อาทิ โครงการส่งเสริมสุขภาพประชาชนโดยการใช้อาสาสมัครเทคโนโลยีกรุงเทพมหานคร, ข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ, Bangkok risk map และ Bangkok health map, การปรับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุขและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ, นโยบาย Bangkok Health Zoning รวมถึงรายงานถึงความคืบหน้าการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข “เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร” เช่น การพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง การยกระดับคลินิกกายภาพบำบัดเป็นศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพเพิ่มเติม การพัฒนาศักยภาพคลินิกพิเศษเพื่อรับการส่งต่อ ฯลฯ อีกทั้งเรื่องการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อระหว่างสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ และบทบาทการเป็นผู้จัดการพื้นที่ (Area Manager) ของศูนย์บริการสาธารณสุข
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวในที่ประชุมว่า การใช้กลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพนั้น มีความตั้งใจที่จะร้อยทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าหากัน เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะผ่านรูปแบบ Sandbox คณะกรรมการ หรือการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เมื่อการทำงานถึงจุดหนึ่งต้องมีการขยายผล ซึ่งกรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การจับมือกันเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาในบางพื้นที่มีโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครเป็นหลักอย่างเดียวอาจไม่ใช่แล้ว และในบางพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครอาจไม่สามารถเป็นหลักได้จะมีโรงพยาบาลเครือข่ายมาช่วย ความเชื่อมั่นในการรับบริการเป็นสิ่งสำคัญ และความรวดเร็วในการให้บริการเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ กรุงเทพมหานครพยายามเร่งดำเนินงานเต็มที่ในการเป็นแม่ข่ายด้านสุขภาพในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมองแล้วว่าการคุมโซนใหญ่ค่อนข้างยาก ต้องมีการแตกเป็นโซนย่อย และศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครยังยินดีเป็นแม่ข่ายหรือผู้จัดการพื้นที่ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ด้วย และอาจต้องมีคณะกรรมการดำเนินการในแต่ละเรื่องด้วย ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไป
———————————–