(28 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตราชเทวี ประกอบด้วย
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณเกาะดินแดง (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ตั้งแต่เชิงสะพานพหลโยธินถึงเชิงสะพานข้ามคลองสามเสน ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ผู้ค้า 22 ราย พร้อมทั้งสำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณเกาะดินแดง ที่ผ่านมา เขตฯ ได้สำรวจและพิจารณาพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมเพื่อจัดทำ Hawker Center อาจเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ รวมถึงประสานหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบบริเวณดังกล่าว เพื่อขอให้พื้นที่จัดทำ Hawker Center โดยเน้นย้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบจัดการงานด้านภาษี การบันทึกข้อมูลผู้เสียภาษี การพิมพ์เอกสารการจัดเก็บภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 10,835 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 16,767 แห่ง ห้องชุด 33,177 ห้อง สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 60,779 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตราชเทวี มีข้าราชการและบุคลากร 805 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ทุกฝ่ายคัดแยกเศษกระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก โดยแม่บ้านจะรวบรวมไว้ จำหน่ายให้คนรับซื้อของเก่า 2.ขยะอินทรีย์ ทุกฝ่ายมีถังขยะรองรับเศษอาหาร ทุกเย็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะรวบรวมขยะเศษอาหารทั้งหมดของแต่ละชั้นลงมาใส่ถังปิดฝามิดชิดให้เกษตรนำไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย มีจุดเก็บขยะอันตราย บริเวณชั้น 1 ทางลงไปลานจอดรถด้านหลังอาคาร 4.ขยะทั่วไป มีถังขยะทั่วไปอยู่ทุกชั้น แม่บ้านจะรวบรวมลงมาทิ้งที่ถังรวมขยะทั่วไปทุกวัน รอรถเก็บขนมูลฝอยเข้ามาจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 175 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 156 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 16 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.18 กิโลกรัม/วัน
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณที่ว่างชุมชนบ้านครัวเหนือ ถนนบรรทัดทอง พื้นที่ 81 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงที่ดินว่างเปล่าได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่ส่วนบุคคลจากประชาชนในชุมชน มอบที่ดินให้กรุงเทพมหานครจัดทำสวนหย่อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ โดยปลูกต้นทองอุไร และเปิดใช้สวนดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เขตฯ ได้ประสานขอใช้พื้นที่ว่างของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริเวณข้างด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษด่านอุรุพงษ์ ถนนพระรามที่ 6 พื้นที่ 544 ตารางเมตร และพื้นที่ว่างใต้ทางพิเศษติดกับแยกอุรุพงษ์ บริเวณถนนพระรามที่ 6 ซอย 18 พื้นที่ 575 ตารางเมตร เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำเป็นสวน 15 นาทีต่อไป
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้าง Summit Tower ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารสูง 45 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นโรงแรม อาคารสำนักงาน พาณิชกรรม พักอาศัยรวม และทีจอดรถยนต์ เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะตามแหล่งกำเนิด ชุมชนนิคมมักกะสัน แยกมิตรสัมพันธ์ พื้นที่ 3 ไร่ ประชากร 700 คน บ้านเรือน 100 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2558 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ผักและเปลือกผลไม้นำไปหมักน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล ประธานชุมชนประชาสัมพันธ์ให้แต่ละบ้านแยกขยะรีไซเคิล ออกจากขยะทั่วไป บ้านแต่ละหลังจะเป็นผู้คัดแยกขยะประเภทกระดาษ ลัง และขวดพลาสติก เก็บรวบรวมไว้จำหน่ายให้คนเก็บของเก่าที่มารับซื้อ 3.ขยะทั่วไป อาสาสมัครชักลากของชุมชนเป็นผู้รวบรวมขยะทั่วไปในชุมชน ไปยังจุดพักขยะให้รถขยะของเขตฯ เข้าจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้ที่จุดเก็บขยะอันตราย บริเวณบ้านอาสาสมัครชักลากของชุมชน รวบรวมให้รถขยะของเขตฯ นำไปกำจัด หรือมีผู้มารับซื้อในชุมชน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 25,745.50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 21,700 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราชเทวี สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)