กทม.ประสานกรมทางหลวงเร่งแก้ปัญหาเสากั้นรถ จยย.กีดขวางผู้ใช้วีลแชร์บนสะพานลอยถนนวิภาวดีฯ
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้สะพานลอยคนเดินข้ามถนนวิภาวดีรังสิต เนื่องจากบริเวณทางลาดขึ้นมีเสากั้นรถจักรยานยนต์กีดขวางว่า สะพานลอยคนเดินข้ามบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่ง สนย.ได้ประสาน ทล.พิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนผู้สัญจรและผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการใช้งานสะพานลอยคนเดินข้ามได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ขณะเดียวกัน สนย.ได้สำรวจตรวจสอบสะพานลอยคนเดินข้าม ที่อยู่ในความดูแลของ กทม.ซึ่งมีทั้งสะพานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและสะพานโครงสร้างเหล็กที่มีการก่อสร้างใช้งานมาเป็นเวลานาน อาจไม่เหมาะสมที่จะดัดแปลงโครงสร้าง เพราะจะกระทบกับโครงสร้างเดิม รวมทั้งได้ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.พิจารณาจัดทำทางข้ามให้เหมาะสมกับกายภาพพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการที่ใช้วีลแชร์สามารถใช้ทางสาธารณะได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
กทม.เดินหน้าพัฒนาฟื้นฟูปรับปรุงภูมิทัศน์ เร่งแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองแสนแสบระยะกลาง พ.ศ.2565 – 2570 ในส่วนที่กรุงเทพมหานครรับผิดชอบว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเสริมสร้างความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำ การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ รวมทั้งการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ โดยร่วมกับกรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ และบริษัทเอกชน พัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือแล้วเสร็จ 8 แห่ง พร้อมจัดหาเรือไฟฟ้า 12 ลำ เปิดให้บริการประชาชน ตั้งแต่ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง – สำนักงานเขตมีนบุรี ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขตปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ ทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลองและริมฝั่งคลอง ตามแผนรักษาความสะอาด คู คลอง และแหล่งน้ำตามวงรอบที่กำหนดไว้ รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรับรู้และปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนด้วยการไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล หรือของเสียลงคลอง คู ลำรางลำกระโดง เน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ
นอกจากนั้น ยังร่วมกับสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ติดคลองแสนแสบและคลองสาขา 21 เขต กำหนดแนวทางพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ชัดเจนภายใต้ภารกิจ 5 ด้าน ประกอบด้วย การบังคับใช้กฎหมาย การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลอง การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ริมฝั่งคลอง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง และการพัฒนา/ขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลอง ซึ่งจะทำให้ริมคลองแสนแสบมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางภายภาพที่ชัดเจน ทางเท้าริมคลองสะอาด เรียบเสมอไม่มีสิ่งกีดขวาง พื้นที่ว่างได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดเช็กอินสำหรับถ่ายภาพ ตกแต่งผนังกำแพงทางเดินด้วยภาพวาดศิลปะ ส่วนสิ่งปลูกสร้าง หรือสาธารณูปโภค เช่น สะพานข้ามคลอง ผนังเขื่อน ทางเท้า ได้รับการซ่อมแซมให้มีความสวยงามและปลอดภัย ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองแสนแสบ ซึ่งมีสำนักงานเขตและสำนักต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ร่วมแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียเชิงบูรณาการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมจัดเก็บขยะและวัชพืชทำความสะอาดรักษาสภาพคูคลองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามแผนรักษาความสะอาดคูคลองและแหล่งน้ำ ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์และการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชน ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ และสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาบำบัดน้ำ
ส่วนการแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ กทม.ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม บูรณาการข้อมูลพร้อมจัดทำแผนตรวจสอบสถานประกอบการทุกแห่งที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสียในพื้นที่รัศมี 500 เมตร จากคลองแสนแสบและคลองสาขา 21 เขต เพื่อตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง หากพบว่าสถานประกอบการใดมีคุณภาพน้ำทิ้งไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เพื่อลดภาระค่าความสกปรกที่ระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะในระยะเร่งด่วน กทม.ได้จัดให้มีมาตรการบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม โดยติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชนขนาดเล็กตามริมคลองที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ให้บริการบำบัดน้ำเสีย ติดตั้งถังดักไขมันภายในบ้านเรือน และติดตั้งเครื่องเติมอากาศในน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำเน่าเสียรุนแรง
ทั้งนี้ สนน.ได้ขับเคลื่อนโครงการในปีงบประมาณ 2566 โดยเร่งรัดก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 1 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย.66 และก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 รวมถึงเตรียมการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติม นอกจากนี้ ได้เตรียมขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการบำบัดน้ำเสีย อาทิ จ้างก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย จ้างก่อสร้างเขื่อน จ้างก่อสร้างท่าเทียบเรือ จ้างศึกษาแนวทางการพัฒนาการสัญจรทางน้ำในคลองแสนแสบและจัดหาเครื่องดูดตะกอนดินและเครื่องแยกตะกอนดินเลนพร้อมอุปกรณ์ เป็นต้น
กทม.เตรียมพร้อมสถานที่ติดป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ตามประกาศ กกต.
นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2566 ว่า สปท.ได้ประสานแจ้งสำนักงานเขตให้จัดเตรียมสถานที่ปิดประกาศและสำรวจสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมาว่า ยังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ เพื่อจะได้ออกประกาศ กำหนดสถานที่หลักเกณฑ์และวิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งประสานให้ กทม.ดำเนินการต่อไป
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้เตรียมความพร้อมซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามประกาศ กกต.ดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทุกสำนักงานเขตดำเนินการกรณีผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองติดแผ่นป้ายหาเสียงไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบ หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งในประกาศได้กำหนดขนาด จำนวน วิธีการ สถานที่ในการปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ไว้ ดังนี้ ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองสามารถจัดทำประกาศโดยกำหนดให้เป็นแนวตั้ง ขนาดกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวนและวันเดือนปีที่ผลิต โดยผู้สมัครจัดทำประกาศได้ไม่เกินจำนวน 2 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และพรรคการเมืองจัดทำประกาศได้ไม่เกินจำนวน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตจังหวัดนั้น สำหรับสถานที่ปิดประกาศให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือหัวหน้าหน่วยงานออกประกาศกำหนดสถานที่ หลักเกณฑ์ วิธีการปิดประกาศ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยสามารถปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น วิธีการปิดประกาศให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนดและห้ามปิดทับซ้อนประกาศของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองอื่น ในกรณีที่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองปิดประกาศไม่ถูกต้อง ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่งแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และแจ้งให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว ในกรณีไม่ดำเนินการแก้ไขภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออก หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการโดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองนั้น