ผนึกกำลังยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 มุ่งนโยบาย “3 พื้นที่ 7 มาตรการ” สร้างความเชื่อมั่นคุณภาพอากาศที่ดีให้กับประชาชน
(7 พ.ย.65) เวลา 16.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมรับมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 76 จังหวัด ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมรับมอบนโยบาย ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และผ่านระบบ (Zoom meeting)
ในที่ประชุม กรมควบคุมมลพิษได้สรุปภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ดีขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมาทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงจำนวนจุดความร้อนของประเทศไทยที่มีจำนวนลดลง การคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 สถานการณ์จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าจะมีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าปรากฏการณ์ “ลานีญา” จะเริ่มน้อยลง มีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น
สำหรับการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อีกทั้งได้มีการยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานในทุกปี โดยการจัดทำเป็นแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบันซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบแผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยในปีนี้ มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่เมือง 2.พื้นที่ป่า และ 3.พื้นที่เกษตรกรรม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุกยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ดังนี้ 1.เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ 2.ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง 3.ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) 4.กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง 5.ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) 6.ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 7.ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)