พัฒนาสวน 15 นาทีเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์งานก่อสร้างศุภาลัยลอฟท์ ตรวจแยกขยะเขตภาษีเจริญ เช็กระบบจัดเก็บข้อมูล BMA TAX ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดทองศาลางาม จัดระเบียบผู้ค้าหน้าบ้านพักคนชราบางแค
(15 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางแยกถนนบางแวก พื้นที่ 12 ตารางเมตร เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำสะพานทางเดินข้ามร่องน้ำ ปลูกต้นรวงผึ้ง ปรับสภาพพื้นดิน เตรียมปูหญ้า รวมถึงประสานสำนักการโยธาติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม ขณะนี้การปรับภูมิทัศน์คืบหน้าแล้วกว่า 20% นอกจากนี้ เขตฯ ได้พัฒนาสวน 15 นาที ชุมชนเลิศสุขสม ถนนพุทธมณฑลสาย 1 สวนแห่งรอยยิ้มและพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่ 400 ตารางเมตร บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งจัดทำทางเดินสปาเท้า จัดทำที่นั่งพักผ่อนจากวัสดุเหลือใช้
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการศุภาลัย ลอฟท์ สถานีภาษีเจริญ ถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 25 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้าออกโครงการ ตรวจสอบวัดค่าควันดำรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออก ล้างทำความสะอาดพื้นที่เป็นประจำ ตรวจสอบไม่ให้มีน้ำขังบริเวณทางเข้าออกโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทหล่อหลอมโลหะ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ โดยกำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการแยกขยะ สำนักงานเขตภาษีเจริญ มีข้าราชการและบุคลากร 170 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังรองรับขยะประจำอาคาร โดยแต่ละฝ่ายจะคัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ กระดาษ กล่องพัสดุ นำมาใส่ในถังรองรับขยะที่จัดไว้ พนักงานสถานที่จะจัดเก็บรวบรวม บางส่วนนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นรายได้ บางส่วนแยกให้รถเก็บขนมูลฝอยเพื่อนำไปขาย 2.ขยะอินทรีย์ จัดวางถังรองรับขยะเศษอาหาร เชิญชวนบุคลากรแยกขยะเศษอาหาร ไม่ทิ้งปะปนกับขยะประเภทอื่นๆ โดยขยะเศษอาหารที่ได้จากการคัดแยก ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง และคัดแยกขยะเศษอาหารส่วนหนึ่งเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ซึ่งเป็นหนอนที่มีประโยชน์ในการกำจัดเศษอาหาร 3.ขยะอันตราย ตั้งวางถังรองรับขยะประจำอาคาร โดยฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะอันตรายจากจุดพักรวมของเขตฯ ส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 4.ขยะทั่วไป เป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ โดยจัดวางถังรองรับขยะทั่วไปไว้ในอาคาร พนักงานสถานที่จะรวบรวมนำมาวางไว้ที่จุดรวมมูลฝอย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะทั่วไปทุกวัน เพื่อส่งกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 700 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 535-540 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 90-95 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 25 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 55-60 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.4 กิโลกรัม/เดือน
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ติดตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี รวมถึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายรายได้ ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 42,357 แปลง สำรวจครบแล้ว สิ่งปลูกสร้าง 43,356 แห่ง สำรวจแล้ว 40,110 แห่ง คงเหลือ 3,246 แห่ง ห้องชุด 22,680 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 108,393 รายการ สำรวจแล้ว 105,147 รายการ คงเหลือ 3,246 รายการ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) การจัดเก็บและบันทึกข้อมูล ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดทองศาลางาม ซอยเพชรเกษม 20 พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา มีครูและนักเรียน 333 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ จัดวางภาชนะสำหรับคัดแยกขยะอินทรีย์ โดยขยะที่คัดแยกได้โรงเรียนจะนำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีการเลี้ยงไก่ไข่ภายในโรงเรียน บางส่วนทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมให้นักเรียนคัดแยกขยะ ประเภทขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว เพื่อนำมาแลกอุปกรณ์เครื่องเขียน โดยขยะที่นำมาแลกจะถูกรวบรวมเพื่อส่งจำหน่ายนำเงินมาหมุนเวียนจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียนมาให้นักเรียนแลกเปลี่ยนต่อไป และส่งเสริมให้พนักงานสถานที่คัดแยกขยะต่างๆ เช่น กระดาษ กระดาษลัง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ส่งขายร้านรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นรายได้เสริม 3.ขยะทั่วไป ส่งเสริมการคัดแยกขยะให้กับนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน ปัจจุบันมีขยะทั่วไปที่เหลือให้เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 4.ขยะอันตราย ส่งเสริมให้นักเรียนและบุคลากรคัดแยกขยะอันตรายอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 250-300 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 156 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 150-200 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 150 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1-2 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าบ้านพักคนชรา ถนนเพชรเกษม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 15 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 288 ราย ดังนี้ 1.ปากซอยวงศ์ดอกไม้ ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 21 ราย 2.ซอยเพชรเกษม 54 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 21 ราย 3.ปากซอยเพชรเกษม 48 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 31 ราย 4.ปากซอยเพชรเกษม 42 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 22 ราย 5.ปากซอยเพชรเกษม 36 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 38 ราย 6.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งซ้าย) 7.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 2 ฝั่งรวมกัน 11 ราย 8.ปากซอยเพชรเกษม 20 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 40 ราย 9.หน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 8 ราย 10.ปากซอยเพชรเกษม 33 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 17 ราย 11.ปากซอยเพชรเกษม 39 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 6 ราย 12. หน้าบ้านพักคนชรา ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 49 ราย 13.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 7 ราย 14.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 5 ราย และ 15.หน้าวัดนาคปรก ถนนเทอดไท ผู้ค้า 12 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า รวมถึงพิจารณาย้ายผู้ค้าบริเวณหน้าบ้านพักคนชรา ซึ่งทำการค้าอยู่ 2 ฝั่ง ให้ย้ายมาอยู่ในฝั่งเดียวกัน ส่วนในจุดทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย ให้พิจารณายุบรวมเป็นจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางเยาวะสกุล ทองธัญวีรัตน์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตภาษีเจริญ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส./ณัฐธิดา…นศ.ฝึกงาน รายงาน)