(14 มี.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร : Bangkok Health Emergency Operations Center (ศฉส.กทม. : BHEOC) ครั้งที่ 4/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และระบบการประชุมทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยที่ประชุมได้มีการรายงานการเฝ้าระวังด้านสุขภาพและแนวทางดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ
*กำชับเขตตรวจความสะอาดสถานประกอบการและแหล่งเก็บน้ำป้องกันโรคลีเจียนแนร์
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงโรคลีเจียนแนร์ (Legionellae) ว่า เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันจากสิ่งแวดล้อม มี 2 แบบ คือ รุนแรง และไม่รุนแรง ซึ่งเป็นอีก 1 โรคที่ต้องระวัง เป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว หลายคนอาจยังไม่เคยรู้จักกับโรคนี้ ซึ่งโรคลีเจียนแนร์มีที่มาจากแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน จึงต้องมีความรอบคอบและให้ความสำคัญกับโรคนี้ โดยเฉพาะการลงพื้นที่ของสำนักงานเขตในการตรวจสถานประกอบการในพื้นที่ ให้มีการตรวจในโรงแรมด้วย เนื่องปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น โรงแรมมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เมื่อติดเชื้อแล้วมีความอันตราย จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดของสถานที่และแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น พรม บ่อพักน้ำ ถังน้ำ ท่อแอร์ เพราะถ้าไม่ได้มีการเปิดใช้นาน ๆ เมื่อกลับมาใช้งานอีกครั้งเชื้อโรคที่มีอยู่อาจกระจายออกมาได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับทางการประปานครหลวง โดยการประปานครหลวงมีทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำและแก้ไขคุณภาพของที่เก็บน้ำ ได้มีการหารือถึงความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับน้ำให้กับประชาชนด้วย ถือเป็นกลไกเสริมในการป้องกันโรคที่มากับน้ำเพิ่มเติม
*รุกพื้นที่ชุมชนป้องกันไข้เลือดออก เห็นผลชัดเจน ยอดผู้ติดเชื้อลด
ด้านสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเทียบอัตราการป่วยกับทั้งประเทศ กรุงเทพมหานครอยู่ในลำดับที่ 2 ของทั้งประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 1,688 คน ใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยมากที่สุดที่เขตพระนคร อายุที่พบมากที่สุดคือ 5 – 14 ปี ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีแนวทางป้องกันไข้เลือดออก โดยได้มีการให้สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข ดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อม Big Cleaning ทุกวันศุกร์อย่างต่อเนื่อง มีการประชาสัมพันธ์การป้องกัน และอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ ณ จุดให้บริการประชาชน รวมถึงสื่อสารความเสี่ยงอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงมากกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่น หรือมีอาการเลือดออกผิดปกติ หากพบผู้มีอาการสงสัย ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล อีกทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเบื้องต้น โดยใช้ Dengue NS1 (Ag/Ab) หรือ Tourniquet Test หากผลบวก ให้รายงานข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบสารสนเทศทางระบาดวิทยา (Epi-Net) มีการพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินโรคไข้เลือดออกเขต (Emergency Operation Center : EOC) และสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในหน่วยงานทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และติดตาม ควบคุม กำกับ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า การออกดำเนินการเชิงรุกช่วยได้มาก เพราะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด พร้อมทั้งกำชับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ดูแลจุดที่คาดว่าจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหรือเกิดน้ำขัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความสะอาด และการจัดการขยะที่สะสม หากเป็นไปได้ให้สำนักอนามัยทำเป็นแผนที่มีข้อมูลนำไปลงไว้ใน Risk Map ก็ได้ เพื่อให้เขตเข้าดูข้อมูลจุดต่าง ๆ ได้เลย เป็นการเพิ่มความสะดวกเข้าถึงพื้นที่ได้ตรงจุดรวดเร็วขึ้น และสามารถทำงานได้ดีขึ้น
*วัคซีนโควิด-19 ยังจำเป็น รับบริการฟรีที่ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด กทม. และสังกัดอื่นรวม 151 แห่ง
ส่วนสถานการณ์ Covid-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ วันนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 90 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน ซึ่งคิดค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน อยู่ที่ 100 รายต่อวัน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วย Covid-19 ในเดือน ม.ค.-มี.ค. 66 มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ อัตราป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อ Covid-19 เป็น 0.00 % สำหรับวัคซีนป้องกัน Covid-19 ในสัปดาห์นี้ มีคนฉีดวัคซีน 6,143 โดส และมีการฉีดเป็นเข็มที่ 5 มากที่สุด มีจำนวนการรับวัคซีนลดลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามทุกคนยังคงมีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และหากรับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม
ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประชาชนสามารถเข้ารับวัคซีนได้ฟรีตามสถานบริการวัคซีน 151 แห่ง โดยสามารถเข้ารับบริการแบบ Walk in หรือจองคิวผ่านแอปฯ QueQ รับบริการที่สถานบริการสังกัดกรุงเทพมหานครได้ ดังนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ทุกวันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 13.00 – 15.00 น. โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ โรงพยาบาลคลองสามวา โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล โดยสอบถามรายละเอียดเวลาการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาลก่อนเข้ารับบริการ ส่วนโรงพยาบาลสังกัดอื่นให้สอบรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนเพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการ
———————————– (พัทธนันท์, ชาดารัตน์ สปส./ณัฐธิดา นศ.ฝึกงาน รายงาน)