กทม.ระงับก่อสร้างทางเดินริมน้ำโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาระงับการดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง สนย.ได้ชะลอโครงการตามคำสั่งศาลปกครองเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา เมื่อวันที่ 5 ก.พ.63 โดยมีคำสั่งห้ามมิให้ กทม.ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งปัจจุบันสภาพพื้นที่ที่จะดำเนินการและรูปแบบที่ได้ออกแบบไว้อาจไม่สอดคล้องกัน หากจะดำเนินการโครงการต้องทบทวนรูปแบบโครงการให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่และดำเนินการขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมศิลปากร และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สนย.ยังไม่มีแผนจะดำเนินการโครงการจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษา อย่างไรก็ตาม กทม.ขอยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ
กทม.เตรียมพร้อมระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย แนะหลีกเลี่ยงซื้อยารับประทานเอง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิต โดยตรวจคัดกรองอาการเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามลักษณะอาการ รวมถึงกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ดูแลภาชนะที่ใส่น้ำไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สามารถใส่ทรายอะเบท หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ พร้อมทั้งแนะนำการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้ผู้ที่มารับบริการใน รพ.และชุมชนรอบ รพ.พร้อมสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักด้านสุขภาพ วินิจฉัย และรักษาโรคไข้เลือดออก และรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. สำนักอนามัย หากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2 – 7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนให้ดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านพักอาศัยและภายในชุมชน โดยแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ประกอบด้วย ( 1) ปิด – ปิดฝาภาชนะให้สนิท (2) ปล่อย – ปล่อยปลากินลูกน้ำ (3) เปลี่ยน – เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ (4 ) ปรับ – ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ (5) ปฏิบัติ – ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย รวมทั้งสร้างความรู้ให้ประชาชนทราบถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง และสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูง ให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยให้ทุก รพ.ในสังกัด สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ.รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่กลุ่มงานอนามัยชุมชนลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายแก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัด พร้อมประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ รพ.
กทม.ประสาน BTS ปรับระบบการใช้ลิฟต์ จัดสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสารทุกกลุ่ม
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์การใช้บริการลิฟต์โดยสารในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีห้าแยกลาดพร้าว มีขั้นตอนยุ่งยากว่า สจส.ได้ประสานแจ้งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ให้ตรวจสอบบริเวณทางเชื่อมระหว่างห้างสรรพสินค้า โดยปรับแก้ไขบันไดให้เป็นทางลาด ปรับปรุงขั้นตอน และเพิ่มระบบการเรียกใช้บริการลิฟต์ให้เป็นแบบปุ่มกด เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการเรียกใช้บริการ ขณะเดียวกันได้เร่งรัดจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกของสถานีรถไฟฟ้า BTS เช่น ติดตั้งลิฟต์โดยสาร ติดตั้งบันไดเลื่อน และติดตั้งราวกั้นกันตก เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารทุกกลุ่ม
กทม.ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนเน้นย้ำช่องทางแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็ว เพื่อวางแผนการทำงาน การทำกิจกรรม หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานและมีแนวโน้มเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ โดยในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการฯ เข้มงวดตรวจวัดตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภท โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจรและกวดขันห้ามจอดรถในถนนสายหลักสายรองตลอดเวลา ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home) ใช้รถเท่าที่จำเป็น และไม่ขับ…ช่วยดับเครื่อง ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์และลดการใช้รถยนต์บุคคล ควบคุมสถานประกอบกิจการในพื้นที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษอากาศเกินค่ามาตรฐาน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการจัดกิจกรรม Big Cleaning บริเวณสถานที่ก่อสร้างและแพลนท์ปูน รวมถึงงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างทุกประเภท เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะ หรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท นอกจากนั้น ทุกสำนักงานเขตยังได้ทำ Big Cleaning บริเวณที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตพร้อมกันเมื่อวันที่ 7 มี.ค.66 และเพิ่มความถี่การล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถโยสารประจำทางอย่างต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันสุขภาพอนามัยจากฝุ่น PM2.5 ให้กับประชาชน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ AIRBKK หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านระบบ Traffy Fondue
นอกจากนั้น ยังได้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คลินิกมลพิษทางอากาศดูแลสุขภาพประชาชน ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 โรงเรียนในสังกัด กทม.อย่างเคร่งครัด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียนเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งร่วมกับ LINE ประเทศไทย เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนประชาชน เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีค่าเกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จำนวน 10 เขต หรือค่าฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม. จำนวน 1 เขต บน LINE ALERT โดยสามารถเพิ่มเพื่อน LINE ALERT ด้วยการค้นหาไอดี @linealert