กทม.เตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกป้องกันโรคไข้เลือดออก จัด Big Cleaning ในชุมชนพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออก มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่าปีก่อน 6.6 เท่า โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราผู้ป่วยสูงสุดว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยประสานสำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ร่วมจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big Cleaning ในชุมชน หรือพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องทั้ง 50 เขต เน้นกิจกรรมการทำความสะอาด ทิ้งขยะ สำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบการป้องกันตนเองและอาการสงสัยโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชนในพื้นที่ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งแผ่นพับ โปสเตอร์ และสื่อออนไลน์ เพื่อเน้นย้ำนโยบายป้องกันก่อนเกิดโรคคือ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ประกอบด้วย เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และเก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วันเช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคคือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ “5ป ” ประกอบด้วย ป1 – ปิด ภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด ป้องกันการวางไข่ของยุงลาย ป2 – เปลี่ยนน้ำในภาชนะต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีแหล่งน้ำที่ยุงสามารถไปเพาะพันธุ์ได้ ป3 – ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ป4 – ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้ปลอดโปร่ง ลมพัดผ่านได้ และ ป5 – ปฏิบัติตามทั้ง 4 ป ข้างต้นเป็นประจำ เพื่อป้องกันและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
นอกจากนี้ สนอ.ยังได้แจ้งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้สำนักงานเขตที่พบผู้ป่วยเข้าควบคุมโรค ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาดและการรองรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก โดยจัดอบรมพัฒนาความรู้บุคลากร รวมถึงซักซ้อมแผนการดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรมีความรู้สามารถตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งทบทวนแนวทางการรักษาเมื่อพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออก เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว
กทม.ติดตั้งไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ชั่วคราวที่ป้ายรถเมล์ เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน
นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ป้ายรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอ อาจเสี่ยงอันตรายกับผู้รอรถโดยสารว่า สจส.ได้ตรวจสอบพบว่า ปัญหาไฟฟ้าดับบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารส่วนใหญ่เกิดจากฟิวส์ไฟฟ้าชำรุด หรือระบบสายไฟฟ้าใต้ดินชำรุด ทำให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทันทีต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สจส.ได้แก้ไขปัญหา โดยติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างชั่วคราว (โซล่าร์เซลล์) จนกว่า กฟน.จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เป็นปกติ และ สจส.ได้เตรียมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับ กฟน.ต่อไป
เขตพระนครประสานตำรวจแก้ปัญหาแก๊งรถ จยย.รอบวัดสุทัศนฯ – ตั้งบาร์เครื่องดื่มบนทางเท้าย่านเสาชิงช้า
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุแก๊งรถจักรยานยนต์รวมตัวช่วงกลางคืนตั้งขบวนขับขี่รอบวัดสุทัศนฯ และตั้งบาร์เครื่องดื่มบนทางเท้าย่านเสาชิงช้าว่า สำนักงานเขตพระนคร ได้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) สำราญราษฎร์ ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รวมตัวตั้งขบวนและขับขี่ในยามวิกาล รวมถึงการใช้ที่สาธารณะตั้งวางเครื่องดื่ม สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้พักอาศัยบริเวณโดยรอบวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร ขณะเดียวกันได้มีมาตรการเพิ่มความเข้มงวดกวดขัน พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจให้เพิ่มความถี่ตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลตามที่ประชาชนแจ้ง ตลอดจนเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้พักอาศัยบริเวณดังกล่าว
เขตสายไหมกำชับแคมป์ก่อสร้างควบคุมเสียง ปรับเวลารถขนของ ฉีดพรมน้ำในซอยจตุโชติ 17 ลดฝุ่นละออง
นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตสายไหม กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนบริษัทรับเหมาขนส่งวัสดุก่อสร้างในซอยจตุโชติ 17 ทำงานช่วงเวลากลางคืน ส่งผลกระทบเรื่องเสียงดังและฝุ่นละอองว่า สำนักงานเขตสายไหม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบว่า เป็นแคมป์คนงานก่อสร้างของบริษัทแห่งหนึ่ง มีคนงานพักอาศัยอยู่ 4 คน เจ้าหน้าที่จึงได้กำชับให้ควบคุมเสียงและปรับเปลี่ยนเวลารถขนของของบริษัท ให้เข้าพักไม่เกินเวลา 20.00 น. เพื่อป้องกันเสียงรบกวนผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง พร้อมขอความร่วมมือให้ปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่กำหนดและหามาตรการป้องกันเสียง
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานผู้จัดการหมู่บ้านภัสสร 19 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ติดกับแคมป์ของบริษัทดังกล่าว เพื่อแจ้งให้ทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัท ว่า บริษัทจะเข้าทำงานในช่วงเวลา 08.00 – 17.00 น. และในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ให้ทำงานได้ ยกเว้นงานที่ใช้เสียง ตัดเหล็ก อ๊อกเหล็ก โดยสำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเน้นย้ำให้บริษัทปฏิบัติตามข้อตกลง พร้อมทั้งขอความร่วมมือบริษัทให้ฉีดพรมน้ำบนถนนซอยจตุโชติ 17 (ถนนส่วนบุคคล) ในช่วงเวลาเช้าและเย็น เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสถานประกอบการในพื้นที่ไม่ให้สร้างความเดือดร้อน ส่วนกรณีรถบรรทุกได้กวดขันอย่างต่อเนื่องให้มีสิ่งปกคลุม เพื่อป้องกันฝุ่นละออง หรือสิ่งของพลัดหล่น ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่กวดขันตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ต่อไป