(10 มี.ค. 66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมเปิดบ้าน : ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจรชุมชนเกาะกลาง โดยนายพรพรหม ณ. ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย ผู้บริหารกลุ่มเขตกรุงเทพใต้ นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จำกัด นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรักษาการผู้อำนวยการ TIPMSE ชาวชุมชนเกาะกลาง และผู้เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม ณ สวน 80 พรรษา มหาราชินี ใต้ทางด่วนพิเศษฉลองรัช ซอยสุขุมวิท 48/1 เขตคลองเตย จากนั้นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ได้ร่วมกิจกรรมปลูกต้นพิกุล และเยี่ยมชมการดำเนินงานการจัดการขยะของชุมชนเกาะกลาง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แต่ละวันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีขยะมากกว่า 9,000 ตัน ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการกำจัดขยะประมาณเกือบ 9,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าสามารถลดปริมาณขยะได้ ปัญหาในการกำจัดขยะก็จะลดลง สามารถนำงบประมาณจากส่วนนี้มาส่งเสริมการศึกษาให้เด็กได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีเด็กอีกหลายคนยังขาดโอกาส รวมถึงขาดการดูแลด้านศึกษา ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการส่งเสริมให้มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ตั้งเป้าหมายเชิญชวนครัวเรือนกว่า 8,700 แห่ง เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งขยะที่ทิ้งทุกวันมีคุณค่าสามารถนำขยะไปขายสร้างมูลค่าเพิ่มได้ กรุงเทพมหานครขอขอบคุณบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนเกาะกลางมานานไม่ต่ำกว่า 4 ปี มั่นใจว่าโครงการจะประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป ถึงแม้ชุมชนจะมีเพียง 56 ครัวเรือน แต่การที่ชุมชนเล็กสามารถทำได้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมได้ และขอขอบคุณชุมชนเกาะกลาง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันสร้างให้โครงการดังกล่าวเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
สำหรับ “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร เกาะกลาง : ชุมชนแยกขยะได้ประโยชน์” ตั้งอยู่ในชุมชนเกาะกลาง ริมคลองพระโขนง มีอายุกว่า 100 ปี สำหรับชุมชนเกาะกลาง เป็นชุมชนขนาดเล็กในสังคมเมืองที่มีความเข้มแข็ง ตั้งอยู่บนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีพื้นที่ทั้งหมด 3 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา มี 56 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 230 คน เดิมภาพของชุมชนถูกมองว่าเป็นชุมชนหลังคาติดกันที่เสื่อมโทรม และเป็นผู้ทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลอง แต่ด้วยความตั้งใจจริงของสมาชิกในชุมชนตลอดระยะเวลาโครงการ ภาพลักษณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เกาะกลางปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยจนมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีจุดแยกขยะอย่างเป็นระบบ สามารถนำผลิตภัณฑ์จากขยะ อาทิ ก๊าซชีวภาพไปประกอบอาหารในชุมชนได้ถึง 720 ชั่วโมง ประหยัดค่าพลังงานได้ราว 9,600 บาทต่อปี รวมถึงยังมีการนำขยะด้อยค่าอีกหลายประเภทไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนทั้งในแง่การจัดการขยะ ความสะอาด การได้ประโยชน์ใช้สอยจากผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เพิ่ม และประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสร้างจิตสำนึกการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จนสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ เพื่อนำแนวคิดการใช้ประโยชน์จากขยะนี้ไปปรับใช้ให้สอดรับกับพื้นที่ของตนเอง เช่น ฐานเรียนรู้ ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยหมักเศษอาหาร และปุ๋ยหมักใบไม้ มีการกำจัดขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร โดยใช้กระบวนการย่อยสลายภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน ได้เป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) สำหรับใช้ในส่วนกลางของชุมชน การกำจัดขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหารในครัวเรือน โดยใช้กระบวนการย่อยสลายทางชีวเคมี เพื่อให้ได้สารอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการบำรุงดิน และการกำจัดขยะอินทรีย์ประเภทใบไม้ หญ้า ต้นพืช กิ่งไม้ โดยการนำมาหมักเป็นปุ๋ย เพื่อใช้ใส่ในแปลงผักสวนครัวของชุมชน เป็นต้น
สำหรับชุมชนเกาะกลาง พื้นฐานของชุมชน เน้นการพึ่งพาตัวเองโดยนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการชุมชน เริ่มดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2556 โดยสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และคูคลองที่ล้อมรอบชุมชน ทำให้ชุมชนมีพื้นฐานการจัดการขยะ และด้วยความเข้มแข็งของคณะกรรมการชุมชนเกาะกลาง ในปี 2563 กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) บริษัทชั้นนำด้านวัสดุศาสตร์หรือแมททีเรียลส์ไซแอนซ์ (Materials Science) ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ร่วมกับ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานเขตคลองเตย พัฒนาการบริหารจัดการขยะภายในเกาะกลางแบบครบวงจรทั้ง 4 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้คนในชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิด “บรรจุภัณฑ์ เป็นวัตถุดิบ” เกิดเป็นต้นแบบธุรกิจการจัดการขยะในชุมชนอย่างยั่งยืน
——————————– (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)