กทม.เร่งสำรวจข้อมูล นร.หญิงชั้น ป.5 โรงเรียนในสังกัดเข้ารับวัคซีน HPV
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) เพิ่มเติมในนักเรียนหญิง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ป.5) โรงเรียนสังกัด กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้วางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในนักเรียนหญิงไทยชั้น ป.5 ตามแนวทางที่ สธ.กำหนด ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักการศึกษา กทม.เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองโดยยืนยันว่า นักเรียนหญิงไทย ชั้น ป.5 ที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2562 – 2564 จะได้รับวัคซีนครบทุกรายตามความสมัครใจ ซึ่งจากคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ประสิทธิผลของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกยังสูงอยู่ แม้ว่าจะเว้นระยะห่างของการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปนานกว่าที่กำหนด โดยขณะนี้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.อยู่ระหว่างสำรวจและรวบรวมข้อมูลจำนวนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อขออนุมัติจัดสรรวัคซีน
นอกจากนี้ กทม.ยังมีแนวทางรณรงค์เร่งรัดฉีดวัคซีนพื้นฐานแก่ประชาชนในสถานพยาบาลของ กทม. โดยเมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนพื้นฐานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์การเข้ารับบริการฉีดวัคซีนที่มีอัตราลดต่ำลงของเด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปี ที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดีของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อเน้นย้ำและกระตุ้นเตือนให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาลเยี่ยมบ้าน พยาบาลอนามัยโรงเรียน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เร่งประชาสัมพันธ์ ค้นหา และติดตามกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีนพื้นฐานให้มากและเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม การป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นแนวทางการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หลักการสำคัญคือ ควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 26 ปี
กทม.กำชับโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมย่านลาดพร้าวเข้มงวดมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น ย่านลาดพร้าว เขตห้วยขวางว่า สนย.ตรวจสอบพบว่า อาคารดังกล่าวได้ใบรับแจ้งก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 ส.ค.64 เป็นอาคารชนิดตึก 8 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย 189 ห้อง ในซอยลาดพร้าว 48 แยก 8 – 1 (พัทลุง) ถนนลาดพร้าว แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง ซึ่งได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.64 และความกว้างถนนอ้างอิงตามหนังสือสำนักงานเขตห้วยขวางเมื่อวันที่ 9 มี.ค.64
สำหรับการแก้ปัญหาร้องเรียนของประชาชน สนย.ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานเขตห้วยขวางและตัวแทนโครงการฯ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณก่อสร้าง พบว่า มีการติดตั้งผ้าใบป้องกันฝุ่นและวัสดุตกหล่น แต่ไม่เรียบร้อย จึงได้แจ้งโครงการฯ แก้ไขให้ถูกต้องและดำเนินการก่อสร้างด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งกำชับไม่ให้ทำงานเกินเวลาตามมาตรการความปลอดภัยการก่อสร้างและมาตรการป้องกันในรายงาน EIA หากโครงการฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการข้างต้น สนย.จะประสานสำนักงานเขตห้วยขวาง เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนประชาชน โครงการฯ ได้สำรวจความเสียหายแล้ว คาดว่าจะสามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ภายในเดือน มี.ค.66
กทม.แนะประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยง 6 โรค ช่วงหน้าร้อน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ปี 2566 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.มีความห่วงใยสุขภาพและอนามัยของประชาชนด้วยอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ประชาชนจึงควรระมัดระวังดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำอุปโภคบริโภค โดยรับประทานอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูร้อน โดย กทม.ได้จัดทำชุดความรู้การส่งเสริมและให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ปี 2566 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอาการสำคัญของโรคที่เกิดในฤดูร้อน ดังนี้ (1) โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง อาจมีไข้ หรืออาเจียนร่วมด้วย (2) โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป อาการที่สำคัญของโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย และอาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย (3) โรคบิด เกิดจากการรับประทานอาหาร ผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อบิดปนเปื้อน อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด (4) โรคอหิวาตกโรค เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปนเปื้อน อาการที่สำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าวคราวละมาก ๆ ผู้ป่วยจะอาเจียน กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ปัสสาวะน้อย หากเสียน้ำมากผู้ป่วยอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้ (5) โรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อน หรือผู้ที่เป็นพาหะโรคไทฟอยด์ อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องอืด หรือท้องเสียได้ ผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะนำโรคไข้ไทฟอยด์ ควรหลีกเลี่ยงการประกอบอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์ได้ (6) โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่ สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น เมื่อคนได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการปรากฏภายใน 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยเมื่อถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ (7) โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่สำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
กทม.ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร – เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณทางข้ามหน้าอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวกรณีประชาชนขอให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางม้าลายหน้าอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ว่า สำนักงานเขตปทุมวัน ได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งประสานสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ตรวจสอบและพิจารณาติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบเตือนบริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) สัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม และสัญญาณไฟทางข้ามทางม้าลายหน้าอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อให้รถชะลอความเร็ว เป็นสัญญาณให้ประชาชนข้ามถนนอย่างปลอดภัย และลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ส่วนปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักการโยธา กทม.ตรวจสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ตัดแต่งกิ่งไม้ที่บดบังทัศนวิสัยและเพิ่มแสงสว่างบริเวณพื้นผิวจราจรหน้าอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รวมทั้งประสานสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีร่วมอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนที่ข้ามถนนบริเวณทางข้ามหน้าอาคารดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่น
นายไวทยา นวเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า สจส.ได้ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว ซึ่งอยู่ใกล้กับทางเข้า – ออก ประตู 7 ด้านถนนราชดำริ พบว่า ไม่มีเครื่องหมายจราจรทางข้าม แต่ห่างออกไปประมาณ 80 เมตร จะเป็นทางเข้า – ออก ประตู 8 ซึ่ง สจส.ได้จัดทำทางข้ามสีโคลด์พลาสติก (สีแดง) พร้อมติดตั้งสัญญาณไฟจราจรคนเดินข้ามชนิดกดปุ่ม และไฟส่องสว่างทางข้าม อีกทั้งในบริเวณใกล้กันยังมีสะพานลอยคนเดินข้ามพร้อมลิฟต์ จึงขอแนะนำให้ประชาชนไปใช้ทางข้ามบริเวณประตู 8 แทน ซึ่งจะสะดวกและปลอดภัยกว่าการข้ามถนนในบริเวณดังกล่าว
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบไฟฟ้าส่องสว่างมีแสงสว่างไม่เพียงพอ เนื่องจากระยะห่างระหว่างเสาและความสว่างโคมไฟเสื่อมตามอายุการใช้งาน โดย สนย.จะปรับปรุงโคมไฟฟ้าทางเท้าให้เป็นโคม LED และติดตั้งโคมไฟส่องสว่าง LED เพิ่มเติมที่เกาะกลางถนนบริเวณทางข้าม เพื่อเพิ่มแสงสว่างต่อไป