(4 พ.ย 65) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “เตรียมพร้อม รับมือ PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดขึ้น ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยได้รับเกียรติจากนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นผู้เสวนา ผู้ทรงคุณวุฒิและเครือข่ายนักวิจัยร่วมเสนอแนวทางการป้องกันและการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานครร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานเสวนาวิชาการ “เตรียมพร้อม รับมือ PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการนําเสนอแนวทางป้องกันด้วยการนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่สนับสนุนการดําเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ (ช่วงวิกฤต) และใช้สําหรับเป็นแผนเผชิญเหตุ รวมถึงมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 หากปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ด้วยการระดมความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกําเนิด การกําจัดการป้องกัน และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมร่วมกันเสนอแนวทางการป้องกันและการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โชคดีที่ปัญหา PM2.5 ไม่เกิดขึ้น แต่ปีนี้คาดว่าปัญหานี้อาจจะกลับมาอีก กรุงเทพมหานครตั้งใจที่จะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง จนปัจจุบัน สามารถทำให้พื้นที่การเผาเหลือเพียง 5,000 ไร่ จาก 100,000 ไร่ ปีนี้ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตั้งเป้าว่าในปีนี้ให้การเผาเป็นศูนย์ให้ได้ โดยได้ร่วมหารือกับจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี ถ้าเป็นไปได้ปีต่อไปที่จะทำให้การเผาน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ตั้งศูนย์สู้ฝุ่นโดยเฉพาะอยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำหรับการเสวนาในวันนี้ ผู้รับการอบรมที่เป็นผู้อำนวยการเขตจะได้รับความรู้ไปปรับใช้ในการดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ด้วยการร่วมกันทำให้ฝุ่นน้อยที่สุด และเป็นแบบอย่างให้ที่อื่น ๆ ต่อไป
ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า 1 ในนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือ นักสืบฝุ่น ที่ต้องการจะรู้ว่าฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานครมาจากไหนบ้าง ด้วยทราบว่ามีนักวิชาการที่ทำเรื่องนี้ไว้เยอะ คิดเป็นแผนนี้ เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้ทราบ เพื่อทำแผนของกรุงเทพมหานครให้ครบถ้วนและดีที่สุด และการมาร่วมเสวนาในวันนี้ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาแผนของกรุงเทพมหานครต่อไป โดยกรุงเทพมหานครจะใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นใหม่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ เป็นมาตรการที่ทำทั้งปี แผนรับมือกับฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ การเฝ้าระวังติดตาม (Monitor) การลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอ (Reduce) เช่น แหล่งที่มาจากโรงงาน การจราจร ควันดำ การเผาในที่โล่ง และการป้องกันสุขภาพ (Protect)
เรื่องแรกคือ การเฝ้าระวังติดตาม (Monitor) ที่มาของนักสืบฝุ่น เพิ่มความรู้ครบถ้วนมากที่สุด การแจ้งเตือนผ่าน Traffy Fondue หากประชาชนเห็นรถยนต์ควันดำ สามารถส่งผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้ เพิ่ม Sensor ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้มีแล้ว 557 จุด และตั้งเป้าให้ได้ ให้ครบ 1,000 จุด และกรุงเทพมหานครมีศูนย์เฝ้าระวังติดตาม หรือที่เรียกว่า War Room หรือศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ ที่อาคาร 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง สามารถดูค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน Air BKK ทิศทางลม การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การเผาในที่โล่ง จาก Hot Spot แบบ Real Time เป็น Platform ที่สามารถดูได้ทั้ง กทม. และปริมณฑล ด้วยการสนับสนุนจาก GISDA และสามารถดูภาพผ่านกล้องของสำนักการจราจรและขนส่ง เป็นศูนย์รวมรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และประสานไปยังหน่วยงานอื่นได้ด้วย
ส่วนการลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอ (Reduce) แบ่งเป็น การตรวจสถานประกอบการตามแผน เดือนละ 2 ครั้ง ตามสถานประกอบการที่มีจำนวน 1,222 แห่ง และมีจำนวน 260 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะมีการใช้ Boiler ที่สร้างฝุ่น PM2.5 ส่วนการควบคุมการเผาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตั้งเป้าให้เหลือศูนย์ให้ได้ ซึ่งจุดใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 9 จุด และได้ไปขอความร่วมมือและจะให้การสนับสนุนเชื้อเพลิงสำหรับรถที่นำน้ำไปใช้ในการหมักฝางข้าว การสนับสนุนจุลินทรีย์ย่อยสลาย หรือสนับสนุนการอัดฝางข้าว เป็นต้น
ในเรื่องของควันดำ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตรวจรถยนต์ควันดำ 14 จุด/วัน ตรวจรถบรรทุก/รถโดยสารประจำทาง 2 วัน/สัปดาห์ หากค่าฝุ่นใกล้สถานการณ์วิกฤต (สีส้มหรือสีแดง) จะมีการตรวจถี่ขึ้น โดยจะดำเนินการตรวจรถยนต์ควันดำ 20 จุด/วัน ตรวจรถบรรทุก 4 วัน/สัปดาห์ การคืนผิวจราจร รณรงค์ให้เอกชน Work from Home การตรวจแพลนท์ปูนและไซต์ก่อสร้างที่เป็นต้นตอ จำนวน 91 แห่ง เพิ่มระบบ Feeder จากบ้านไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดได้ เริ่ม 2 เส้นทาง ได้แก่ จากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ไปยัง BTS สนามเป้า และจากเคหะร่มเกล้า ลาดกระบัง ไปยัง Airport Rail Link ลาดกระบัง เป็นจุดที่ประชากรมีจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังให้ความรู้ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง เช่น การปักธงเป็นสีตามค่าฝุ่นในวันนั้น สอนการให้อ่านค่าฝุ่น การปฏิบัติตัวอย่างไรหากค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน และรวมไปถึงการเพิ่มห้องปลอดฝุ่นตามสถานที่ต่าง ๆ สำหรับศูนย์เด็กเล็กและผู้สูงอายุ การสอนทำ DIY เครื่องกรองฝุ่น เป็นต้น สุดท้ายการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชน กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับ Line จัดทำแอปพลิเคชัน Line Alert โดยนอกจากเป็นการแจ้งเตือนภัยพิบัติแล้ว ยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อฝุ่นมีค่าสูงขึ้น การแจกหน้ากากอนามัย การตรวจสุขภาพในคลินิคโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังรวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดทำคู่มือปลูกต้นไม้ ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดสามารถกรองฝุ่นได้ด้วย
ผู้ร่วมเสวนา มีดังนี้ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.สาวิตรี การีเวทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รศ.ดร.ภัคพงศ์ พจนารถ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารจากสำนักงานเขต และผู้เกี่ยวข้อง
———————- (ชไมพร…สสล. รายงาน)