PM2.5 ผ่าน Line Alert พร้อมเดินหน้านโยบาย #สิ่งแวดล้อมดี
(3 พ.ย. 65) เวลา 13.30 น. นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้านโยบาย “สิ่งแวดล้อมดี” โดยมีนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเพมหานคร ร่วมงาน ณ ลานข้างสนามหญ้า ภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมดี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้เป็นการแถลงความคืบหน้าการดำเนินการที่ผ่านมา 4 เดือน ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก คือ เรื่อง PM2.5 เป็นแผนที่ได้เตรียมการสำหรับฤดูหนาวนี้ เรื่องการบริหารจัดการขยะ แยกขยะตั้งแต่ต้นทางผ่านโครงการไม่เทรวม และเรื่องต้นไม้ล้านต้นและสวนสาธารณะ 15 นาที
● เพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือน ให้คนกรุงรู้ทันสถานการณ์ฝุ่น PM2.5
ตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศกรุงเทพมหานครได้เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ กรุงเทพมหานครได้เตรียมแผนรับมือกับฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ การเฝ้าระวังติดตาม (Monitor) การลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอ (Reduce) เช่น แหล่งที่มาจากโรงงาน การจราจร ควันดำ การเผาในที่โล่ง และการป้องกันสุขภาพ (Protect)
เรื่องแรกคือ การเฝ้าระวังติดตาม (Monitor) สำหรับประชาชนสามารถรับการแจ้งเตือนและรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่าน Traffy Fondue แอปพลิเคชัน Line Alert หรือ Line OA: Line Alert ใช้แจ้งเตือนประชาชนเมื่อฝุ่นมีค่าเกิน 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นภาวะวิกฤต (สีแดง) และการเฝ้าระวังติดตาม สำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดทำ War Room หรือศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ ที่อาคาร 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง สามารถดูค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน Air BKK ทิศทางลม การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การเผาในที่โล่ง จาก Hot Spot แบบ Real Time ด้วยข้อมูล GISDA ข้อมูลอื่น ๆ เช่น ดูค่าฝุ่นเกินของเขตผ่านกล้องของสำนักการจราจรและขนส่ง
ส่วนการลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอ (Reduce) แบ่งเป็น การจราจร มีการตรวจอย่างเข้มงวดตลอดทั้งปี หากค่าฝุ่นต่ำกว่า 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะดำเนินการตรวจรถยนต์ควันดำ 14 จุด/วัน ตรวจรถบรรทุก/รถโดยสารประจำทาง 2 วัน/สัปดาห์ รวมถึงมีการตรวจแพลนท์ปูนและไซต์ก่อสร้างด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หากค่าฝุ่นใกล้สถานการณ์วิกฤต (สีส้มหรือสีแดง) จะมีการตรวจเพิ่มขึ้น โดยจะดำเนินการตรวจรถยนต์ควันดำ 20 จุด/วัน ตรวจรถบรรทุก 4 วัน/สัปดาห์ ในส่วนของโรงงานที่มีจำนวน 1,222 แห่ง มีปัญหาจาก Boiler หรือใช้ถ่านหิน/ก๊าซธรรมชาติในการเผา มีจำนวน 260 แห่ง มีการลงพื้นที่ตรวจร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายภาคการเกษตร ข้อมูลจากสำนักพัฒนาสังคม ปี 2564 จุดเผาผ่านทางดาวเทียม มีจุดทั้งหมด 9 จุดใหญ่ เกิน 1 ไร่ และยังมีจุดเล็ก ๆ จากการเผาขยะริมทางอยู่บ้าง จึงต้องประสานกับเทศกิจให้เข้มงวด ซึ่งในส่วนของการเกษตรต้องการมีการช่วยเหลือและส่งเสริม ทั้งการนำฟางข้าวออกจากนา การส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย การนำน้ำเข้านาเพื่อย่อยสลายฟางข้าว อาจต้องมีการสนับสนุนในส่วนนี้มากขึ้น เพื่อลดการเผา
สุดท้ายในส่วนของการป้องกันสุขภาพ (Protect) ในโรงเรียน กรุงเทพมหานครได้เริ่มโครงการให้นักเรียนได้เข้าใจเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 มีคลินิกสู้ฝุ่นในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 5 แห่ง เช่น โรงพยาบาลกลาง หรือการแจกหน้ากากอนามัย เป็นต้น อีกทั้งยังได้รับความอนุเคราะห์จากภาคีเครือข่าย ได้แก่ Plan-B ที่จะมีการนำผลการตรวจวัดฝุ่นไปแสดงบนป้ายจราจรอัจฉริยะ 90 ป้าย ใน 20 เขต และสสส. ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่น อบรมให้ความรู้ และมอบเครื่องตรวจวัดให้แก่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เบื้องต้น 33 แห่ง และพร้อมขยายต่อไป นอกจากนั้น ได้จัดทำ Communication Plan มีหลายช่องทางให้ประชนทราบข้อมูลของฝุ่น PM2.5 ได้แก่ แอปพลิเคชัน Air BKK เข้าไปตรวจค่าฝุ่น PM2.5 หรือค่า AQI มีค่าเท่าไร โดยสามารถตรวจได้ถึง 50 จุด ใน 50 เขต และสวนสาธารณะอีก 20 จุด รวมทั้งหมด 70 จุด ที่สามารถตรวจสอบได้ใน Air BKK ช่องทาง Social Media คือ Facebook มีการโพสต์ทุกเช้าตลอดฤดูหนาว หากค่าเกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะมีการแจ้งเตือน 3 ช่วง เวลา คือ เวลา 07.00 น. 11.00 น. และ 15.00 น.
● ขยายผลพื้นที่นำร่อง “ไม่เทรวม” แยกขยะจากต้นทาง
กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะในปี 2564 สูงถึง 8,979 ตันต่อวัน โดยขยะที่จัดเก็บได้มีองค์ประกอบขยะเป็นเศษอาหาร เกือบร้อยละ 50 ดังนั้น ในส่วนของครัวเรือน ต่อเดือนมีขยะเศษอาหารประมาณ 43.47 กิโลกรัม สัดส่วนขยะอินทรีย์มีถึง 83 เปอร์เซ็นต์ แต่ถูกนำไปจัดการน้อยมาก ต้องมีการบริหารจากต้นทางด้วยการจัดเก็บอย่างถูกวิธี ซึ่งกรุงเทพมหานครมีปลายทางบริหารการจัดเก็บอยู่แล้ว เช่น โรงงาน MBT เปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ 800 ตัน โรงงานทำปุ๋ยหมัก 1,600 ตัน ดังนั้นหากลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะของกรุงเทพมหานครลงได้ จึงเป็นที่มาของการแยกขยะออกเป็น 2 ส่วน คือ ขยะอินทรีย์หรือขยะเศษอาหาร และขยะทั่วไปหรือขยะแห้งที่เป็นขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก เป็นต้น และได้ริเริ่มโครงการ “ไม่เทรวม” ที่ได้เปิดตัวไปที่สวนลุมพินีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดำเนินการในเส้นทางนำร่องของ 3 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตหนองแขม เขตพญาไท และเขตปทุมวัน รณรงค์แยก “ขยะเศษอาหาร” ออกจาก “ขยะทั่วไป” รวมทั้งหมด 2,600 ครัวเรือน แยกได้ 2,509 กิโลกรัม คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือเทียบเป็นรถขยะ จำนวน 16 คัน แม้จะดูน้อย แต่มีผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจก โดย 50,000 กิโลกรัม สามารถลดคาร์บอนได้ 60 ตัน เทียบกับการผลิตเสื้อยืดจากผ้าคอตตอนได้ 10,000 ตัว เทียบเท่ากับการเดินทางด้วยเครื่องบิน 300,000 กว่ากิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ 505 เที่ยว มีผลกับการลดก๊าซเรือนกระจกได้มาก และมี Impact สูง
ในส่วนคนที่ต้องการแยกขยะกับโครงการไม่เทรวมนี้ สามารถลงทะเบียนผ่านทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เป็นวิธีที่จะเข้าไปหาคนที่ต้องการมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า Active Citizen ด้วยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งของกรุงเทพมหานครและภาคเอกชน โดยรณรงค์ให้ประชนมาลงทะเบียนผ่านทาง Traffy Fondue ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ และเปิดตัวโครงการไม่เทรวมด้วยการเก็บขยะตามบ้านเรือนประชาชนทั้ง 50 เขต ในวันที่ 12 ธันวาคม 2565
● ดึงทุกภาคส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียว
กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยนโยบายต้นไม้ล้านต้น ซึ่งขณะนี้มีปลูกไปแล้ว 168,878 ต้น ที่ลงทะเบียนจองปลูกกับกรุงเทพมหานคร 1,641,310 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18.00 น.) หากประชาชนสนใจที่จะปลูกต้นไม้ สามารถดูได้จากคู่มือการปลูกต้นไม้ที่มีคำแนะนำต้นไม้ที่เหมาะสมในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมลงทะเบียนได้ที่ @tomorrowtree สามารถดูความก้าวหน้าต้นไม้ที่เราปลูกว่าเป็นอย่างไร
นอกจากนั้น ได้จัดทำโครงการถนนสวย ด้วยการขอให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ส่งข้อมูลว่าต้องการพัฒนาถนนเส้นใด ปัจจุบันมีถนนเข้าร่วมทั้งสิ้น 54 สาย ความยาวประมาณ 138.47 กิโลเมตร อาทิ ถนนเสรีไทย ระยะทาง 8.6 กม. ซึ่งเป็นถนนที่ร่วมกันพัฒนาระหว่าง 3 เขต ได้แก่ เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว และเขตมีนบุรี ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตสาทร ระยะทาง 1.8 กม. ซึ่งเป็นการพัฒนาเส้นเกาะกลางถนนให้มีความสวยงาม ถนนมหาราช เขตพระนคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีทางเท้าขนาดกลางที่จะปลูกต้นไม้สีเขียว เพื่อสร้างร่มเงาตลอดถนน ระยะทาง 0.55 กม. เป็นโครงการถนนสวยภายใต้โครงการต้นไม้ล้านต้น
สุดท้ายเรื่องสวน 15 นาที คือการเพิ่มสวนที่เรียกว่า Pocket Park ตามชุมชน จำนวน 64 แห่ง รวม 474 ไร่ แบ่งเป็นโซน กรุงเทพเหนือ 11 แห่ง และกรุงเทพตะวันออก 13 แห่ง เป็นต้น ไม่ได้มีเฉพาะการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป้าหมายก็คือเมืองที่น่าอยู่
สำหรับเรื่อง Dog Park เดิมกรุงเทพมหานครมี Dog Park จำนวน 3 แห่ง คือ สวนวัชราภิรมย์ เขตบางเขน สวนบางแคภิรมย์ เขตบางแค และสวนเทียนทะเลพัฒนา เขตบางขุนเทียน และได้เปิดให้บริการ “พื้นที่สวนน้องหมา” ณ สวนเบญจกิติ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่งมีจำนวนสุนัขที่ลงทะเบียน 2,356 ตัว และมีแนวทางการจัดทำ Dog Park แห่งใหม่ ในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเชิญชวนผู้ที่ใช้บริการภายในสวน ทั้งผู้ที่มีสุนัขและที่ใช้สวนอยู่เป็นประจำแต่ไม่ได้มีสุนัข เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.00 น. บริเวณศาลาแดง (ริมบึงน้ำ) ประตู 1 สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
กรุงเทพมหานครขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมมือและร่วมสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสิ่งแวดล้อมดี และขอเชิญชวนร่วมกิจกรรม Duet Challenge ในแอปพลิเคชัน TikTok พร้อมติดแฮชแท็ก #สิ่งแวดล้อมดี