(1 มี.ค.66) เวลา 15.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดอนเมือง ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตดอนเมือง โดยดำเนินการคัดแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ 1.ขยะเศษอาหาร ได้แก่ เศษผัก เศษผลไม้ เศษอาหาร นำมาทิ้งในถังคัดแยกเศษอาหาร โดยแยกขยะประเภทอื่นที่ปะปนออกก่อนนำมาทิ้ง 2.ขยะรีไซเคิล ได้แก่ ขวดพลาสติก หนังสือ กระดาษ แต่ละฝ่ายแยกออกมา เพื่อรวบรวมขายหรือนำมาทิ้งในถังขยะรีไซเคิลที่ได้จัดเตรียมไว้ 3.ขยะอันตราย ได้แก่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ยาหมดอายุ นำใส่ภาชนะหรือถุงพลาสติกปิดมิดชิด นำมาทิ้งบริเวณที่จัดเตรียมไว้ 4.ขยะติดเชื้อ ได้แก่ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว นำใส่ภาชนะหรือถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิด นำไปทิ้งในถังขยะติดเชื้อที่ได้จัดเตรียมไว้ 5.ขยะทั่วไป รวบรวมทิ้งในถังขยะทั่วไปที่ได้จัดเตรียมไว้ นอกจากนี้ เขตฯ ยังมีกิจกรรม/โครงการ เพื่อการลดและคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.กิจกรรมขวดรีไซเคิลแลกปุ๋ย โดยข้าราชการและบุคลากรเขตฯ รวมถึงประชาชนที่มาติดต่อราชการ สามารถนำขวดพลาสติกใสมาแลกน้ำหมักชีวภาพได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 2.จุดกิจกรรม ยืม-คืน ถุงผ้า โดยข้าราชการและบุคลากรเขตฯ สามารถยืมถุงผ้า เพื่อใช้แทนถุงพลาสติกและนำมาคืนในวันถัดไปเพื่อให้ผู้อื่นได้ใช้ต่อ 3.กิจกรรมแยกขยะเศษอาหาร โดยนำขยะเศษอาหารที่ได้จากการแยกขยะของข้าราชการและบุคลากรเขตฯ รวมถึงใบไม้แห้งที่พนักงานกวาดได้ทำความสะอาดในบริเวณสำนักงานเขต นำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ 4.โครงการมือวิเศษ กรุงเทพฯ รับบริจาคขวดพลาสติกใส เพื่อนำไปผลิตชุด PPE ให้แก่พนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดฯ
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้และติดตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การใช้งานระบบจัดเก็บภาษีสำหรับน้ำมันฯ แบบใหม่ (OIL TAX) ผ่านทางเว็บไซต์ และระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX MAP) พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนติดตามการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 58,605 แปลง สำรวจแล้ว 55,541 แปลง คงเหลือ 3,064 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 65,2285 แห่ง สำรวจแล้ว 57,754 แห่ง คงเหลือ 7,474 แห่ง ห้องชุด 14,188 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 138,021 รายการ สำรวจแล้ว 127,483 รายการ คงเหลือ 10,538 รายการ
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน บริษัท คิวมิกซ์ชับพลาย จำกัด ถนนวัดเวฬุวนาราม ซึ่งผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ดังนี้ พื้นที่ประกอบการมีลักษณะเป็นคอนกรีตผิวเรียบมีระดับความลาดเอียง ทำความสะอาดกำจัดฝุ่นที่สะสมตามพื้น มีแผงกั้นป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยส่วนล่างเป็นผนังทึบ มีระบบ Spray น้ำรถบรรทุกหินให้เปียกก่อนเทลงกองวัตถุดิบ มีระบบ Sprinkler ฉีดน้ำครอบคลุมกองหิน และพื้นที่ประกอบการ มีระบบล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานประกอบการ เครื่องผสมคอนกรีตเป็นระบบปิดที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ มีเครื่องกรองฝุ่นจากการลำเลียงปูนซีเมนต์หรือเถ้าลอยแบบถุงกรองฝุ่น วัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการผลิต เช่น กากซีเมนต์ มีการปล่อยยังบ่อคายกากในพื้นที่ประกอบการ และมีบ่อพักน้ำโดยมีคันคอนกรีตล้อมรอบบ่อ น้ำทิ้งจากการประกอบการใช้ระบบการวนนำกลับมาใช้ซ้ำ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ เพิ่มความสูงของแผงกั้นฝุ่น เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำตลอดเวลา ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีฝุ่นปูนตกค้าง นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนปิ่นเจริญ 4 ถนนนาวงประชาพัฒนา ลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว มีจำนวน 450 หลัง ประชากร 1,394 คน เขตฯ และผู้แทนชุมชน ได้ร่วมกันหารือแนวทางการลดและคัดแยกขยะในชุมชน สร้างความเข้าใจในการจัดการขยะชุมชนเพื่อชุมขน โดยอาศัยความร่วมมือของประชาชนในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน โดยมีแนวทางในการดำเนินการร่วมกัน ดังนี้ 1.ประชาสัมพันธ์โครงการไม่เทรวม โดยขอความร่วมมือกับประชาชนในชุมชนให้นำขยะเศษอาหารมาทิ้งในจุดที่ได้กำหนดไว้ 2.จัดตั้งคณะทำงานชุมชนต้นแบบการจัดการขยะเศษอาหาร ร่วมกับฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ในการจัดวิทยาการเข้าให้ความรู้ในการนำขยะเศษอาหารมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อาทิ การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพจากเศษอาหารเหลือใช้ การทำบ่อวงในการผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารและใบไม้แห้ง โดยใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยและดับกลิ่นปุ๋ยหมักเศษอาหาร ส่วนขยะเศษอาหารที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ชุมชนจะจัดพื้นที่รวบรวมเพื่อรอการจัดเก็บ 3.จัดตั้งจุดจัดเก็บขยะรีไซเคิล เพื่อดำเนินกิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิลจากร้านค้าและครัวเรือน โดยฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ประสานวิทยากรจากสำนักสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดแนวทางและให้ความรู้กับชุมชน 4.จุดรวบรวมพลาสติกแบบเหนียวที่สามารถรีไซเคิลได้ เขตฯ เข้าจัดเก็บขยะในชุมชนสัปดาห์ละ 1 ครั้งในวันเสาร์ และจัดเก็บขยะบริเวณร้านอาหารหน้าหมู่บ้านทุกวัน สำหรับปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ เดือนพฤศจิกายน 2565 จำนวน 20,200 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล 110 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย 1.5 กิโลกรัม/เดือน เดือนธันวาคม 2565 จำนวน 21,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล 70 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย 1.5 กิโลกรัม/เดือน เดือนมกราคม 2566 จำนวน 20,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย 2 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการจัดทำสวน 15 นาที สวนนาวงประชาพัฒนา 21 (สวนใหม่) ถนนนาวงประชาพัฒนา พื้นที่ 5 ไร่ ขณะนี้เขตฯ ดำเนินการปักหมุดแนวเส้นทางเดินและลานภายในสวน กำหนดตำแหน่งปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม ขุดหลุมเตรียมหลุมปลูกต้นไม้ เตรียมแปลงไม้คลุมดินและไม้พุ่ม โดยได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อมและกลุ่ม We!park วางแผนในส่วนของการปลูกต้นไม้ นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงสวนรื่นภิรมย์ (สวนเดิม) ซอยวัดเวฬุวนาราม 3 พื้นที่ 1 ไร่ โดยจะจัดทำสวนหย่อมเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ยืนต้น ได้แก่ ต้นแคนา 10 ต้น ต้นเฟื่องฟ้า 100 ต้น ต้นโมก 100 ต้น ตามโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดอนเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนปิ่นเจริญ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)