นำร่องห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก กทม.พร้อมติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ – หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า สพส.ได้กำชับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.ทุกแห่งให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็น ต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่นละออง หรือปรับเปลี่ยนการจัดกิจกรรมเป็นภายในอาคาร รวมถึงเช็ดทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ พัดลม และวัสดุอุปกรณ์ภายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.ได้เข้าร่วมเป็นศูนย์ต้นแบบการจัดทำห้องปลอดฝุ่น จำนวน 3 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนฟื้นนครร่มเกล้า ระยะ 4 โซน 10 เขตลาดกระบัง ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนเอื้ออารีย์ เขตสวนหลวง และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต เขตบางเขน โดยร่วมกับ สธ. กรมอนามัย โดยสถาบันสุขภาวะเขตเมือง ลงพื้นที่ศูนย์ฯ และคัดเลือกห้องที่จะดำเนินการเป็นห้องปลอดฝุ่น สร้างความรู้ความเข้าใจกับอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในการลดฝุ่นภายในห้อง ด้วยการปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในห้อง รวมถึงทำความสะอาด โดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดเช็ด เพื่อป้องกันการกระจายตัวของฝุ่น
นอกจากนั้น กทม.ยังได้จัดสรรเครื่องฟอกอากาศ PM2.5 จำนวน 1 – 2 เครื่อง (ตามขนาดห้องเรียน) รวมจำนวน 300 เครื่อง พร้อมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สำหรับเด็กเล็ก รวมจำนวน 40,000 ชิ้น ให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.ทั้ง 274 แห่ง และแต่ละศูนย์ฯ จะดำเนินการให้เป็นห้องเรียนปลอดฝุ่นต่อไป
กทม.เข้มสุ่มตรวจโรงงานผลิตน้ำแข็งในกรุงเทพฯ เพิ่มความปลอดภัยผู้บริโภค
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนผู้บริโภคน้ำแข็งหลอดระวังปนเปื้อนเชื้ออีโคไล เสี่ยงท้องร่วงว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขต เพิ่มความเข้มงวดสุ่มตรวจสอบสุขลักษณะโรงงานและสถานประกอบการผลิตน้ำแข็งในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ซึ่งผู้บริโภคจะบริโภคน้ำแข็งเพิ่มขึ้น สนอ.ได้แจ้งสำนักงานเขตให้กวดขันสถานประกอบการผลิตน้ำแข็งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP และเพิ่มความเข้มงวดดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลของพนักงาน รวมทั้งกำชับสถานประกอบการผลิตน้ำแข็งให้เก็บตัวอย่างน้ำแข็งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทุกปี เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ขณะเดียวกันได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการในการจัดสถานที่ผลิตให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งวิธีการเลือกบริโภคน้ำแข็งอย่างปลอดภัย เพื่อส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเลือกซื้อและบริโภคน้ำแข็งที่สะอาด มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำแข็ง
รร.สังกัด กทม.32 แห่ง ร่วมโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรการเรียนรู้สู้ภัยฝุ่นในโรงเรียน
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ในโรงเรียนในสังกัด กทม.ว่า โครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา ครู และนักเรียนในการรับมือกับฝุ่น PM2.5 และสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดมลพิษ สร้างโรงเรียนต้นแบบรับมือกับฝุ่นในพื้นที่วิกฤตของกรุงเทพฯ ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม.ได้เข้าร่วมโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” จำนวน 32 โรงเรียน หลังจากโรงเรียนผ่านการอบรมแล้วได้นำองค์ความรู้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรการเรียนรู้สู้ภัยฝุ่นในโรงเรียน เช่น การสร้างองค์ความรู้เรื่องนิยามและความหมายของฝุ่น สาเหตุการเพิ่มขึ้นของค่าฝุ่น สถานการณ์ PM2.5 ในประเทศไทย ระดับคุณภาพอากาศธงสุขภาพในโรงเรียน ตลอดจนบทบาทเด็กและเยาวชนแก้ปัญหาภัยฝุ่นอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ โรงเรียนได้จัดกิจกรรมให้นักเรียน ซึ่งนักเรียนได้ให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการวัดคุณภาพอากาศจากเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 sensor ที่ติดตั้งอยู่ในโรงเรียน นักเรียนสามารถอ่านค่าฝุ่นได้แบบเรียลไทม์ และประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในโรงเรียนทราบ เพื่อดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เรื่องฝุ่นละอองให้ผู้ปกครองและชุมชนบริเวณโดยรอบโรงเรียน รณรงค์และป้องกันกิจกรรมที่เพิ่มปริมาณฝุ่น PM2.5 เช่น ไม่ทำลายขยะด้วยการเผา ดูแลเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ และรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน หรือโรงเรียน ทั้งนี้ ได้กำชับโรงเรียนในสังกัดให้ติดตั้งธงคุณภาพอากาศ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นรายวัน
เขตคันนายาวประสานเจ้าของที่ดินทำทางเข้าออกซอยรามอินทรา 66-68 และถนนสวนสยาม
นายนพ ชูสอน ผู้อำนวยการเขตคันนายาว กทม. กล่าวกรณีชาวชุมชนหมู่บ้านแสงอรุณร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการถูกปิดทางเข้า – ออกซอยรามอินทรา 66 – 68 และถนนสวนสยามว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณท้ายซอยรามอินทรา 66 – 68 ซึ่งประชาชนใช้เป็นเส้นทางสัญจรเข้า – ออกสู่ถนนสวนสยาม โดยมีการทุบกำแพงรั้วโครงการเดิมออก เพื่อใช้ผ่านที่ดินส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของที่ดินยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ปัจจุบันมีการซื้อขายเปลี่ยนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและได้เข้ามาดำเนินการปรับปรุงที่ดินดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน สำนักงานเขตฯ พร้อมด้วยกรรมการชุมชนหมู่บ้านแสงอรุณ ได้ประสานเจ้าของที่ดินบริเวณใกล้เคียง เพื่อทำเป็นทางเข้า – ออกหลักผ่านถนนรามอินทรา โดยอยู่ห่างจากจุดเดิมเพียง 100 เมตร และได้พูดคุยกับผู้แทนชุมชนเรียบร้อยแล้ว