คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์งานก่อสร้างการเคหะย่านจตุรทิศ จัดระเบียบผู้ค้าหน้าไทยประกันชีวิตถนนรัชดาฯ ตรวจควันดำรถสองแถวห้วยขวาง-รามคำแหง 39 ชมคัดแยกขยะโรงเรียนสามเสนนอก สำรวจที่ดินตลาดศรีดินแดง ติดตามคัดแยกขยะเขตดินแดง
(20 ก.พ.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดินแดง ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างของการเคหะแห่งชาติ บริเวณถนนจตุรทิศ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น จำนวน 1 อาคาร 635 หน่วย พร้อมงานสาธารณูปโภค สาธารณูปการและงานอื่นๆ อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ระหว่างการก่อสร้างอาคาร ดังนี้ 1.กำหนดขอบเขตการดำเนินการก่อสร้างอย่างชัดเจน 2.มีรั้วโดยรอบบริเวณก่อสร้างให้มีลักษณะเป็นรั้วทึบ โดยมีความสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร 3.มีผ้าใบทึบปกคลุมตัวอาคารตลอดแนวอาคาร 4.บริเวณปากทางเข้า-ออก ปิดทึบตลอดเวลา เปิดเฉพาะเมื่อมีรถเข้า-ออก และดูแลพื้นผิวให้สะอาดปราศจากเศษหิน ดิน ทราย หรือฝุ่นตกค้างจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ 5.ฉีดน้ำหรือมีสิ่งปกคลุมกองวัสดุที่ใช้อย่างมิดชิด ไม่ให้มีฝุ่นฟุ้งกระจาย 6.ทำความสะอาด เศษหิน โคลน ทราย ที่ตกหล่นอยู่ข้างนอกรอบรั้วโครงการทุกวัน 7.ล้างทำความสะอาดตัวรถและล้อรถ ให้ปราศจากเศษหิน ดิน โคลน ทราย ก่อนนำรถทุกชนิดออกสู่ภายนอกโครงการ มีอุปกรณ์ฉีดน้ำล้างตัวรถและหลุมสำหรับล้างล้อรถที่เหมาะสม ไม่ทำให้น้ำที่ล้างไหลออกนอกโครงการ 8.ทำความสะอาดอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารชั้นต่างๆ โดยใช้น้ำ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารที่กำลังก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกขั้นและยาวลงมาถึงพื้นดิน ปรับปรุงพื้นให้เรียบทำความสะอาดไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ในพื้นที่เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 313 ราย ดังนี้ 1.หน้าบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 102 ราย 2.หน้าธนาคารกรุงไทย ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 48 ราย 3.หน้าตลาดกลางดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย 4.หน้าตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 119 ราย 5.ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ผู้ค้า 17 ราย 6.โค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย 7.โค้งหอนาฬิกา ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 3 ราย และ 8.หน้า TVC แมนชั่น ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 4 ราย ในส่วนของ Hawker Center เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ในจุดที่มีความเหมาะสม โดยได้นำเสนอ 3 จุด ได้แก่ 1.ตลาดสดห้วยขวาง ชั้น 2 รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 2.หน้าห้างเอสพานาด รองรับผู้ค้าได้ 30 ราย 3.โครงการพร้อมรัชดา ซึ่งจะมีการจัดทำตลาดนัดรถไฟ รองรับผู้ค้าได้ 100 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้าหรือเกินเส้นที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 การตรวจควันดำท่ารถโดยสารขนาดเล็กร่วมบริการ สายที่ 1062 ห้วยขวาง-รามคำแหง 39 บริเวณข้างสถานีดับเพลิงห้วยขวาง ซอยประชาสงเคราะห์ 36 ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานเขตดินแดง กรมควบคุมมลพิษ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล) ถนนประชาสงเคราะห์ พื้นที่ 8 ไร่ 2 งาน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา 169 คน นักเรียน 3,019 คน วิธีการคัดแยกขยะ ขยะอินทรีย์ เศษผัก ผลไม้ นำมาทิ้งที่จุดพักขยะ และนำมาทำเป็นส่วนผสมของน้ำยาล้างจาน เศษอาหารที่เหลือจากอาหารกลางวันของนักเรียน จะมีเกษตรกรมารับซื้อไปทำอาหารสำหรับเลี้ยงปลา ขยะรีไซเคิล ขวดพลาสติกและลังกระดาษ พนักงานสถานที่เก็บรวบรวมเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ของพนักงานสถานที่ กล่องนมที่มีปริมาณมากประมาณ 2,000 กล่อง/วัน เขตฯ นำไปส่งต่อให้บริษัททำเก้าอี้และหลังคา สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการ 630 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะหลังดำเนินการ 485 กิโลกรัม/วัน
สำรวจการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณตลาดศรีดินแดง ซอยจตุรทิศ 2 แยก 17 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 26,179 แปลง สำรวจแล้ว 23,062 แปลง คงเหลือ 3,117 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 45,376 แห่ง สำรวจแล้ว 35,227 แห่ง คงเหลือ 10,149 แห่ง ห้องชุด 17,901 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 89,456 รายการ สำรวจแล้ว 76,190 รายการ คงเหลือ 13,266 รายการ ปัจจุบันพื้นที่บางแห่งอาจเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นทดแทน หรือเจ้าของที่ดินอาจปล่อยทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์ เขตฯ จึงต้องลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง ปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้ สอบถามข้อมูลปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บภาษี พูดคุยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย ภาษีน้ำมัน ตลอดจนการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตดินแดง วิธีการคัดแยกขยะ ตั้งวางถังรองรับขยะแยกประเภทในอาคาร ดังนี้ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายให้แยกขยะเศษอาหารก่อนทิ้งตามนโยบายไม่เทรวม ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าในเขตฯ ช่วยกันคัดแยกขยะ ลดการใช้โฟมและพลาสติก โครงการมือวิเศษกรุงเทพ โครงการทอดผ้าป่ารีไซเคิล โครงการปฏิทินปีเก่าเราขอ ขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ ฝ่ายรักษาฯ จัดเก็บขยะเศษอาหารในฝ่ายต่างๆ และร้านอาหารในเขตฯ นำมารวมไว้ในจุดรวมเศษอาหาร และประสานเกษตรกรมารับไปเลี้ยงปลาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ขยะประเภทใบไม้ เศษผัก เปลือกผลไม้ นำมาทำปุ๋ยหมัก โดยปุ๋ยที่ได้จะนำมาผสมดินสำหรับปลูกผักและใส่ต้นไม้ ขยะอันตราย ให้แจ้งฝ่ายรักษาฯ เข้าจัดเก็บ หากมีขยะอันตรายที่ต้องการทิ้งหรือให้นำมาทิ้งรวมที่จุดรวมขยะอันตราย โดยจะนำส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เดือนละ 1 ครั้ง ขยะทั่วไป แต่ละฝ่ายนำขยะมาทิ้งในถังรองรับมูลฝอย สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการ 250 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะหลังดำเนินการ 200 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะที่คัดแยก ได้แก่ ขยะรีไซเคิล 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ 30 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตราย 1 กิโลกรัม/วัน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดินแดง คณะครูและบุคลากรโรงเรียนสามเสนนอก สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)