ตรวจศูนย์ฯ BFC สัมพันธวงศ์ ชมคัดแยกขยะอาคารชุด สำรวจสวนริมคลองผดุงฯ ตรวจเข้มฝุ่น PM 2.5 โรงพิมพ์ย่านเจริญกรุง เล็งปรับภูมิทัศน์ถนนสวยเยาวราช จัดระเบียบผู้ค้าถนนเยาวราชและถนนมังกร ส่งสายตรวจเทศกิจตู้เขียวเจาะลึกจุดเสี่ยงภัย
(27 ต.ค.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
*ตรวจศูนย์ฯ BFC เขตสัมพันธวงศ์ สอบถามปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตสัมพันธวงศ์ เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเขตฯ เปิดให้บริการ 6 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายรายได้ ฝ่ายคลัง ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สามารถนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application BMA Q หรือแจ้งประเภทงานที่มารับบริการตรงจุดประชาสัมพันธ์ รับบัตรคิวจากตู้ BMA Q รอเรียกเข้ารับบริการตามประเภทงานของฝ่าย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ระยะเวลาในการให้บริการ จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการในแต่ละฝ่าย รวมถึงให้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตลอดเวลา เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างรวดเร็วและเกิดความพึงพอใจแก่ประชาชนที่มารับบริการ
*สร้างต้นแบบการแยกขยะอาคารชุดสี่พระยาริเวอร์ ต่อยอดการแยกขยะระดับเขตให้สมบูรณ์ครบวงจร
ต้นแบบการแยกขยะ นิติบุคคลอาคารชุดสี่พระยาริเวอร์ ตั้งอยู่ซอยโยธา 1 แขวงตลาดน้อย มีจำนวน 310 ห้อง ประชากร 563 คน เป็นสถานที่เอกชนที่เข้าร่วมโครงการสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร โดยเขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และขอความร่วมมือในการลดขยะที่ต้นทาง มีการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ ทุกวันที่ 25 ของเดือน ก่อนการดำเนินการมีปริมาณมูลฝอยแต่ละประเภท ดังนี้ มูลฝอยทั่วไป เฉลี่ย 9,000 กก./เดือน มูลฝอยรีไซเคิล เฉลี่ย 350 กก./เดือน มูลฝอยอินทรีย์ เฉลี่ย 2 กก./เดือน มูลฝอยอันตราย เฉลี่ย 12 กก./เดือน เขตฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บมูลฝอยทั่วไป ทุกวันในเวลา 19.30 น. ปริมาณ 300 กก./วัน มูลฝอยรีไซเคิล (ขวดพลาสติก ขวดแก้ว และกระดาษ) อาคารชุดดังกล่าว ดำเนินการรวบรวมและจัดเก็บเอง เฉลี่ย 350 กก./เดือน มูลฝอยอันตราย เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง ปริมาณ 6 กก./ครั้ง สำหรับกิจกรรมการคัดแยกขยะ ประกอบด้วย 1.การคัดแยกขยะรีไซเคิล มีจุดรวบรวมขวดพลาสติก ขวดแก้ว และกระดาษ เพื่อจำหน่ายเอง 2.การทำน้ำหมักชีวภาพจากมูลฝอยอินทรีย์ ประเภทเปลือกผลไม้ เพื่อนำไปใช้ภายในอาคาร 3.การตั้งจุดรวบรวมมูลฝอยรีไซเคิลและมูลฝอยอันตรายในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ที่อาศัยนำมาไว้ยังจุดรวบรวม และ 4.การตั้งจุดรวบรวมน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว
*สำรวจสวนริมคลองผดุงกรุงเกษม และสวนสมเด็จพระธีรญาณมุนี เตรียมปรับปรุงสวนเดิมพัฒนาเป็นสวน 15 นาที
สวนริมคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณชุมชนโชฎึกถึงชุมชนโปลิศสภา และสวนหย่อมสมเด็จพระธีรญาณมุนี ซึ่งเป็นพื้นที่สวนเดิมที่มีศักยภาพ ปรับปรุงซ่อมแซม และพัฒนาเป็นสวน 15 นาที สำหรับสวนหย่อมริมคลองผดุงกรุงเกษม คลองผดุงกรุงเกษมจากสะพานพิทยเสถียรถึงสะพานเจริญสวัสดิ์ มีความยาว 650 ม. ตลอดฝั่งคลองมีต้นไม้ยืนต้น 50 ต้น ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนได้ปรับปรุงเป็นสวนหย่อม ลานอเนกประสงค์ พื้นที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น และเป็นที่นั่งพักผ่อนสำหรับประชาชน แบ่งเป็น 3 สวน ได้แก่ สวนหย่อมชุมชนโชฎึก ขนาดพื้นที่ 800 ตร.ม. มีลานอเนกประสงค์ สนามเด็กเล่น พื้นที่อออกกำลังกาย สวนหย่อมหน้าศาลเจ้าไทฮั้ว ขนาดพื้นที่ 400 ตร.ม. เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป สวนหย่อมชุมชนโปลิศสภา ขนาดพื้นที่ 650 ตร.ม. แบ่งเป็นสวนหย่อมปลูกไม้ยืนต้น ไม้ประดับ และเก้าอี้นั่งพักผ่อน 330 ตร.ม. และพื้นที่ออกกำลังกาย 320 ตร.ม. สภาพปัญหาของสวน ประชาชนนำรถมาจอดกีดขวางในบริเวณสวน นำเก้าอี้ไปนั่งที่จุดอื่น และไม่นำกลับมาเก็บที่เดิม ส่วนสวนสมเด็จพระธีรญาณมุนี เป็นสวนหย่อมขนาดเล็ก มีพื้นที่รวม 940 ตร.ม. ภายในสวนมีต้นไม้ยืนต้น 17 ต้น พื้นที่ปลูกไม้ประดับ 140 ตร.ม. พื้นที่ส่วนใหญ่ของสวน เป็นลานกิจกรรม 800 ตร.ม. สวนมีรั้วและประตู เปิดบริการเวลา 05.00-20.00 น. สภาพปัญหาของสวน โดยรอบของบริเวณสวนหย่อมฯ จะมีประชาชนมาจอดรถขนถ่ายสินค้า และนำวัสดุต่างๆ มารวบรวม เพื่อรอการจัดเก็บ ทำให้พื้นที่โดยรอบไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม หรือภาคเอกชน เข้ามาช่วยสนับสนุนในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม รวมถึงประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนผู้พักอาศัยในบริเวณสวนดังกล่าว ให้ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด
*ตรวจเข้มมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 โรงพิมพ์ย่านเจริญกรุง
ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประสิทธิ์สเทชั่นเนอรี่และการพิมพ์ ถนนเจริญกรุง 31 ประกอบกิจการรับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ทุกชนิด เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงานประเภทที่ 3 โดยเขตฯ กำหนดลงพื้นที่ตรวจสอบสุขลักษณะของสถานประกอบการตามแบบตรวจประเมินสถานประกอบการ/โรงงาน และแบบตรวจประเมินด้านสุขลักษณะสถานประกอบการ พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามมาตรการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตรวจประเมินและติดตามผล เดือนละ 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนต.ค.65 ถึงเดือนมี.ค.66 ซึ่งห้างหุ้นส่วนดังกล่าว มีมาตรการลดฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิต ดังนี้ 1.ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมดักจับฝุ่นละอองในทุกกระบวนการผลิตที่มีการปล่อยฝุ่นละออง บำรุงรักษา และตรวจสอบประสิทธิภาพอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง 2.ติดตามตรวจสอบการระบายฝุ่นละอองให้ได้ตามมาตรฐานกฎหมายที่กำหนด หากพบว่ามีค่าสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดหรือมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น จะดำเนินการตรวจสอบพร้อมแก้ไขทันที 3.จัดให้มีอุปกรณ์ความปลอดภัยในการทำงานสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง
*ปรับภูมิทัศน์ถนนสวยเล็งถนนเยาวราช ปลูกต้นไม้พร้อมติดตั้งซุ้มการเวก
ถนนสวย (ปลูกต้นไม้ 1 ถนน 1 เขต) ถนนเยาวราช ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ถึงสะพานภาณุพันธ์ ความยาวของถนน 1,469 ม. ทางเท้ากว้างด้านละ 1.5 ม. ปัจจุบันมีต้นไม้ยืนต้น 24 ต้น ซุ้มการเวก 144 ซุ้ม แบ่งออกเป็น 1.ช่วงซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ถึงแยกเฉลิมบุรี ฝั่งขวา การเวก 14 ซุ้ม ประดู่ 5 ต้น ฝั่งซ้าย การเวก 28 ซุ้ม ประดู่ 9 ต้น ชมพู่พันธุ์ทิพย์ 1 ต้น มะฮอกกานี 1 ต้น 2.ช่วงแยกเฉลิมบุรี ถึงแยกราชวงศ์ ฝั่งขวา การเวก 20 ซุ้ม ฝั่งซ้าย การเวก 16 ซุ้ม 3.ช่วงแยกราชวงศ์ ถึงแยกวัดตึก ฝั่งขวา การเวก 24 ซุ้ม ประดู่ 1 ต้น สัตตบรรณ 2 ต้น ฝั่งซ้าย การเวก 42 ซุ้ม มะฮอกกานี 3 ต้น และ 4.ช่วงแยกวัดตึก ถึงสะพานภาณุพันธ์ กร่าง 1 ต้น ทั้งนี้ เขตฯ มีแนวทางปรับปรุงภูมิทัศน์ ดังนี้ สำรวจพื้นที่ทางเท้าบริเวณถนนเยาวราช ช่วงแยกเฉลิมบุรีถึงสะพานภาณุพันธ์ ช่วงของต้นไม้ ซุ้มการเวกที่ขาดระยะการปลูก กำหนดพื้นที่ที่สามารถปลูกต้นไม้ หรือติดตั้งซุ้มการเวกเพิ่มเติมได้ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ สอบถามเจ้าของอาคาร หรือประชาชนที่พักอาศัย หรือที่ค้าขายในพื้นที่ที่จะดำเนินการปรับปรุง เพื่อขอความเห็น และเกิดความมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จัดทำผังการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในพื้นที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว จัดทำของบประมาณ เพื่อใช้ในการติดตั้งซุ้มการเวก และปลูกต้นไม้เพิ่มเติม
*ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันถนนเยาวราชและนอกจุดผ่อนผันถนนมังกร
เดิมในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ มีจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด ได้แก่ 1.ถนนเยาวราช ฝั่งขวา 2.ถนนเยาวราช ฝั่งซ้าย 3.ถนนเจริญกรุง 4.ถนนราชวงศ์ ฝั่งขวา 5.ถนนราชวงศ์ ฝั่งซ้าย 6.ถนนมหาจักร ฝั่งขวา 7.ถนนมหาจักร ฝั่งซ้าย 8.ถนนข้าวหลาม ฝั่งขวา 9.ถนนข้าวหลาม ฝั่งซ้าย ต่อมาเขตฯ ได้ยกเลิกจุดผ่อนผัน 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนมหาจักร ฝั่งขวา 2.ถนนมหาจักร ฝั่งซ้าย 3.ถนนเจริญกรุง คงเหลือจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด จากนั้นได้รวมจุดผ่อนผันถนนเยาวราช ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา เป็น 1 จุด ความยาว 580 เมตร เวลาทำการค้ากลางวัน 10.00-18.00 น. เวลาทำการค้ากลางคืน 18.00-24.00 น. รวมจุดผ่อนผันถนนราชวงศ์ ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา เป็น 1 จุด ความยาว 630 เมตร เวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. รวมจุดผ่อนผันถนนข้าวหลาม ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา เป็น 1 จุด ความยาว 250 เมตร เวลาทำการค้า 17.00-23.00 น. ปัจจุบันคงเหลือจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด ผู้ค้า 447 ราย ได้แก่ 1.ถนนเยาวราช ฝั่งซ้ายกลางวัน 70 ราย กลางคืน 99 ราย ฝั่งขวากลางวัน 26 ราย กลางคืน 79 ราย 2.ถนนราชวงศ์ ฝั่งซ้าย 99 ราย ฝั่งขวา 46 ราย 3.ถนนข้าวหลาม ฝั่งซ้าย 12 ราย ฝั่งขวา 16 ราย ส่วนนอกจุดผ่อนผัน จำนวน 55 จุด ผู้ค้า 1,570 ราย รวมผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าและนอกพื้นที่ทำการค้า จำนวนทั้งสิ้น 2,017 ราย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในเรื่องการจัดระเบียบผู้ค้า ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ หรือเชิญผู้ค้าหรือผู้แทนกลุ่มย่านการค้ามาร่วมประชุม เพื่อรับทราบนโยบายในการทำการค้าหรือระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ค้าได้ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน
*จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสายตรวจตู้เขียว เจาะลึกพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อันตราย
จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ มีพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อันตราย จำนวน 9 จุด (9 จุดตรวจตู้เขียว) ดังนี้ 1.สะพานลอยคนเดินข้ามหน้ามหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์บพิตรพิมุข จักรวรรดิ 2.สวนหย่อมชุมชนภิรมย์ ถนนจักรวรรดิ 3.สวนสมเด็จธีรณาญมุณี ถนนทรงวาด 4.ริมคลองโอ่งอ่าง เชิงสะพานดำรงสถิต 5.ท่าเรือราชวงศ์ 6.หน้าโรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด 7.ริมคลองผดุงกรุงเกษม (ชุมชนโปลิศสภา) 8.ริมคลองผดุงกรุงเกษม (หน้าศูนย์ฮอนด้า พระราม 3 สาขาหัวลำโพง) ซอยโปลิศสภา 9.ซอยดวงตะวัน (บ้านโซเฮงไถ่) ชุมชนตลาดน้อย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามจุดเสี่ยงภัย ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม ปรับภูมิทัศน์พัฒนาทำความสะอาดตัดแต่งต้นไม้
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสัมพันธวงศ์ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)