(17 ก.พ. 66) นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เปิดเผยถึงภาพรวมแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งป็นกรอบในการดำเนินการในช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า บทบาทหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ถือเป็นหน่วยสนับสนุนสำนักงานเขตในการควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง จึงได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยเร่งรัดในการออกปฏิบัติการดับเพลิงไหม้หญ้าหรือการเผาชีวมวลต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งช่วยลดมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองจากการเผาไหม้
นอกจากนี้ ในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นช่วงเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะได้เวียนแจ้งให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ดำเนินการแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินและประชาชนทราบและปฏิบัติ ดังนี้ 1.สำรวจพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อกำหนดให้เป็นจุดเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนมิให้มีการเผาหญ้าและขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 2. งดการเผาซากวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร 3. งดการเผาขยะมูลฝอย การเผาหญ้า เศษกระดาษในชุมชน และบริเวณริมถนนสองข้างทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากกลุ่มควันจากการเผาไหม้บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ 4. จัดทำรั้วกั้นรอบพื้นที่ของตนเอง เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นนำขยะมาทิ้ง และขอให้ทำการกำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้หญ้า และ 5.ให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบปรับปรุงข้อมูลพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่กวดขัน จับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้าและลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า
กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอความร่วมมือประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร และหากพบเหตุไฟไหม้หญ้าและกองขยะให้แจ้งสายด่วน โทร.199 ตลอด 24 ชั่วโมง
หน่วยงานกทม.บูรณาการความร่วมมือแก้ปัญหาฝุ่นละอองตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยถึงการดำเนินการของสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.)ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 สะสมในช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย.66 ที่สภาพอากาศแห้งและอาจทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศเพิ่มขึ้น
โดยในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ.66 กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่น โดยพื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่ กรุงเทพตะวันออก ในเขตคลองสามวาและเขตมีนบุรี รวมถึงกรุงเทพใต้ ในเขตบางแคและเขตหนองแขม โดยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะหนักสุดในวันที่ 19 ก.พ.66 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เข้มงวดไม่ให้มีการเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร รวมถึงการเผาในที่โล่งอื่นๆ ข้อสั่งการดังกล่าว สอดคล้องตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่ห้ามเผาในพื้นที่เกษตร ห้ามไม่ให้เผาขยะ เผาหญ้า รวมถึงการเผาในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชน รวมทั้งได้ขอความร่วมมือจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงในการเฝ้าระวังจุดความร้อนเพื่อป้องกันผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
อีกทั้งตามแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดมาตรการงดการเผาในที่โล่งทุกกรณี โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย.66 ซึ่งเป็นช่วงที่ฝุ่นละออง PM2.5 มักจะมีค่าเกินมาตรฐาน สำนักพัฒนาสังคมได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตร เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ พร้อมรณรงค์เน้นย้ำเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก งดการเผาในที่โล่ง รวมถึงการควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือในการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดการทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ และปัจจุบันจากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียมจากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร