(15 ก.พ.66) นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) แจ้งว่า ตามที่มีประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 7 (53/2566) ซึ่งมีผลกระทบในช่วงวันที่ 15 – 17 ก.พ. 66 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะแผ่มาปกคลุมบริเวณอื่น ๆ ในระยะต่อไป ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป ประกอบกับในช่วงวันที่ 16 – 17 ก.พ. 66 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ทั่วทุกภาครวมถึงกรุงเทพมหานคร
สำหรับสถานการณ์ในช่วงเช้าวันนีัศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ตรวจสอบและติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์พบว่าเมื่อเวลา 05.30 น. มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ปกคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา แนวโน้มคงที่ เคลื่อนตัวทิศตะวันตก ต่อมาเวลา 06.00 น. มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณเขตหนองจอก กลุ่มฝนขยายตัวกว้างขึ้นและได้เคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ฝั่งพระนครด้านตะวันออก พร้อมกับเพิ่มกำลังแรงขึ้นเป็นฝนกำลังปานกลางถึงหนักปกคลุมพื้นที่ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีทั้งหมด ซึ่งกลุ่มฝนดังกล่าวได้ตกต่อเนื่องในจนถึงเวลา 09.40 น.ได้เคลื่อนตัวออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีกลุ่มฝนกำลังอ่อนกระจายตัวทั่วไป
จากเหตุการณ์ฝนตกดังกล่าวปริมาณฝนที่วัดได้ตามจุดต่าง ๆ ดังนี้ จุดวัดสถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ คลองตัน เขตวัฒนาปริมาณฝน 88.0 มิลลิเมตร จุดวัดสำนักงานเขตบางนาปริมาณฝน 79.5 มิลลิเมตร จุดวัด ค.ประเวศฯ-รพ.ลาดกระบัง เขตลาดกระบังปริมาณฝน 78.5 มิลลิเมตร จุดวัดสำนักงานเขตดุสิตปริมาณฝน 73.0 มิลลิเมตร และจุดวัดสำนักงานเขตพระโขนงปริมาณฝน 70.0 มิลลิเมตร สถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในถนนสายหลักจำนวน 12 จุด เช่น ถนนปรีดีพนมยงค์ ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 (แยกศรีอุดมขาเข้าและขาออก) ถนนรามคำแหง ถนนรัชดาภิเษก ถนนศรีอยุธยา ถนนบรรทัดทอง ถนนพัฒนาการ ถนนพระราม 4 ถนนสุขุมวิท 103 และถนนสุขุมวิท 101/1 ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเร่งระบายน้ำภายใน 3 ชม. จำนวน 2 จุด เร่งระบายน้ำภายใน 2 ชม. จำนวน 3 จุด และเร่งระบายน้ำภายใน 1 ชม. จำนวน 6 จุด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เอกชนในซอยบางนาเขตบางนาอีกด้วย
ส่วนสาเหตุที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสายหลักและซอยที่สำคัญ เช่น ถนนปรีดีพนมยงค์ สาเหตุน้ำท่วมขังเกิดจากถนนมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ช่วงซอยปรีดีพนมยงค์ 19 – 25 ท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก การระบายน้ำท่วมขังต้องใช้บ่อสูบน้ำสุขุมวิท 71 สูบระบายลงสู่คลองตันซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานทำให้เกิดน้ำรอการระบายบริเวณซอยแยกต่างๆ ซึ่งแนวทางการแก้ไข คือ 1. การก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณคลองศาลาลอย และก่อสร้างท่อขนส่งน้ำในถนนปรีดีพนมยงค์ ช่วงซอยปรีดีพนมยงค์ 31 ถึงซอยปรีดีพนมยงค์ 14 เพื่อระบายน้ำผ่านซอยปรีดีพนมยงค์ 14 ลงสู่คลองศาลาลอยและระบายต่อลงสู่คลองตัน (อยู่ระหว่างของบประมาณปี 67) 2. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ที่ประตูระบายน้ำคลองสามอิน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำลงสู่คลองตัน และ 3. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวเพิ่ม ถนนปรีดีพนมยงค์บริเวณคลองบางมะเขือ เพื่อเร่งระบายน้ำ
ในส่วนของถนนสุขุมวิท 101/1 (เขตบางนา) สาเหตุน้ำท่วมขังเกิดจากมีการก่อสร้างอาคารรับน้ำของอุโมงค์ระบายน้ำหนองบอนซึ่งยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่ได้เชื่อมท่อระบายน้ำในซอยเข้าสู่อาคารรับน้ำ เครื่องสูบน้ำชั่วคราวที่ติดตั้งไว้เพื่อสูบน้ำจากซอยลงสู่อาคารรับน้ำมีขนาดเล็ก อีกทั้งท่อระบายน้ำในซอยมีขนาดเล็ก รวมถึงการระบายน้ำต้องระบายออกสู่ถนนสุขุมวิทแล้วระบายต่อลงสู่สถานีสูบน้ำสุขุมวิท 66/1 ซึ่งมีระยะทางไกล แนวทางการแก้ไข คือ 1. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซล ขนาด 16 นิ้ว จำนวน 2 เครื่องเพิ่มเติมเพื่อเร่งสูบน้ำจากท่อระบายน้ำลงสู่อาคารรับน้ำ 2. เพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำสุขุมวิท 66/1 จากขนาด 12.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (m3/s) เป็น ขนาด 15.00 m3/s โดยใช้อาคารรับน้ำอุโมงค์หนองบอนบริเวณสุขุมวิท 66/1 แทน และ 3. เจาะผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก(ค.ส.ล.) ปล่องรับน้ำ เพื่อให้น้ำในท่อไหลลงสู่อาคารรับน้ำอุโมงค์บึงหนองบอนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ถนนสุขุมวิท 103 ซอยอุดมสุข (เขตบางนา) สาเหตุน้ำท่วมขังเกิดจากท่อระบายน้ำในซอยมีขนาดเล็ก ถนนบริเวณปากซอยเชื่อมกับถนนสุขุมวิทมีระดับต่ำ การระบายน้ำต้องระบายออกสู่ถนนสุขุมวิทแล้วระบายต่อลงสู่สถานีสูบน้ำสุขุมวิท 66/1 แนวทางการแก้ไขคือ 1. ก่อสร้างท่อลอดบริเวณปากซอยสุขุมวิท 103 2. เพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำสุขุมวิท 66/1 จากขนาด 12.00 m3/s เป็น ขนาด 15.00 m3/s โดยใช้อาคารรับน้ำอุโมงค์บึงหนองบอนบริเวณสุขุมวิท 66/1 แทน 3. ยกระดับถนนบริเวณปากซอยสุขุมวิท 103 (ดำเนินการโดยสำนักการโยธา อยู่ระหว่างของบประมาณเพิ่มเติม ปี 66)
ซอยบางนา 23 ถนนบางนา-ตราด ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชน (ห้างเซ็นทรัลบางนา) สาเหตุน้ำท่วมขังเกิดจากพื้นที่มีระดับต่ำ ท่อระบายน้ำในซอยไม่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำหลักในถนนบางนา-ตราด ของกรมทางหลวง และเกิดจากเครื่องสูบน้ำของทางห้างขัดข้อง แนวทางการแก้ไขคือ 1. สำนักการระบายน้ำเข้าไปช่วยเหลือโดยนำรถสูบน้ำเคลื่อนที่เข้าไปติดตั้งและเร่งสูบน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้สัญจรภายในซอยดังกล่าว 2. ผันน้ำในคลองหลอด 3 เข้าสู่อาคารรับน้ำอุโมงค์บึงหนองบอน
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุน้ำท่วมขังได้ โดยการประสานศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ โทร. 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงผ่านช่องทางTraffy Fondue ของกทม. หรือ สายด่วน กทม. 1555 และหมายเลขโทรศัพท์ศูนย์ประสานงานน้ำท่วมแต่ละเขต รวมถึงสมารถติดตามการแจ้งเตือนและคาดการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทางเว็บไซด์ weather.bangkok.go.th เฟซบุ๊ก www.facebook.com/bkk.best/ และ https://www.facebook.com/prbangkok