เปิดแอป AirBKK เทียบค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างย่านสุขุมวิท 64-1 ชมคัดแยกขยะชุมชนสุภาพงษ์ สำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินสุขุมวิท 54-1 จัดระเบียบผู้ค้าซอยสุขุมวิท 95 ตรวจคัดแยกขยะเขตพระโขนง พัฒนาสวน 15 นาทีท้ายซอยสุขุมวิท 62-3
(10 ก.พ. 66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระโขนง ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ CLOUD 11 ระหว่างซอยสุขุมวิท 64/1-66/1 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ความสูง 23 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น ประกอบด้วย ทาวเวอร์ 1 ความสูง 22 ชั้น ทาวเวอร์ 2 ความสูง 17 ชั้น ทาวเวอร์ 3 ความสูง 23 ชั้น ทาวเวอร์ 4 ความสูง 17 ชั้น อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 60 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน/รถบรรทุกควันดำ 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง/รถบรรทุกควันดำ 4 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมาย ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ใช้แอปพลิเคชัน AirBKK ตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่โครงการก่อสร้าง พบว่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้มีค่าใกล้เคียงกับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งอยู่ภายในพื้นที่โครงการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนที่ผ่านเข้า-ออก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนสุภาพงษ์ ซอยวชิรธรรมสาธิต 68 (สุขุมวิท 101/1) มีพื้นที่ 18 ไร่ เป็นชุมชนขนาดกลางค่อนข้างแออัด ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ ประชากร 504 คน บ้านพักอาศัย 150 หลังคาเรือน วิธีการคัดแยกขยะโดยจำแนก ตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์หรือเศษอาหาร แต่ละบ้านนำเศษอาหารที่แยกแล้วมารวมในถังแยก เขตฯ จัดเก็บทุก 2 วัน หรือนำใส่ถุงให้รถขยะ ซึ่งรถขยะจะแยกประเภทขยะเศษอาหารไม่ทิ้งรวมกับขยะอื่น แล้วนำมาให้จุดรวมขยะเศษอาหารของเขตฯ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล เด็กในชุมชนจะไปเก็บขวดหรือกล่องกระดาษตามบ้านที่อยู่ในชุมชน เพื่อนำขยะรีไซเคิลมารวบรวมที่ศูนย์ทุกสัปดาห์ โดยจะนำขยะของแต่ละคนมาชั่งน้ำหนักเพื่อนำไปขายที่ร้านขายของเก่าข้างชุมชน และนำมาฝากธนาคารออมสินที่มาเปิดให้เด็กในชุมชน (ธนาคารขยะ) ทุกเดือนเด็กจะมีเงินเข้าบัญชี 3.ขยะทั่วไป/ขยะกำพร้าที่สามารถเผาไหม้ เก็บรวบรวมแยกต่างหากไว้ เพื่อให้เขตดำเนินการจัดเก็บทุก 15 วัน เขตฯ จะรวบรวมส่งบริษัทบางจาก 4.ขยะอันตราย แต่ละบ้านจะแยกไว้แล้วนำมารวมทิ้งที่ศูนย์ของชุมชน เมื่อรวมได้ปริมาณมากจะให้รถขยะใส่ช่องสีส้ม เพื่อเขตฯ จะได้ไปดำเนินการต่อไป 5.ขยะติดเชื้อ แต่ละบ้านรวบรวมใส่ขวดพลาสติกใหญ่เมื่อเต็มแล้ว จะแจ้งเขตฯ จัดเก็บโดยเฉพาะ สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการ 12,000 กิโลกรัม ปริมาณขยะหลังดำเนินการ 7,200 กิโลกรัม เขตฯ จัดเก็บขยะสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
สำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณซอยสุขุมวิท 54/1 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 30,437 แปลง สำรวจครบแล้ว สิ่งปลูกสร้าง 26,071 แห่ง สำรวจครบแล้ว ห้องชุด 33,311 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 89,819 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ในปัจจุบันพื้นที่บางแห่งอาจเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นทดแทน หรือจากที่ดินรกร้างว่างเปล่าอาจมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น หรือปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เขตฯ จึงต้องลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยสุขุมวิท 95 ผู้ค้า 58 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตพระโขนง โดยการคัดแยกขยะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายร่วมคัดแยกขยะภายในเขตฯ ดังนี้ 1.ขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ฝ่ายรักษาฯ จัดอบรมแม่บ้านของเขตฯ ให้ดำเนินการเก็บและคัดแยกขยะเศษอาหาร โดยการตั้งวางถังน้ำและตะแกรงใส่เศษอาหารรองรับให้แต่ละฝ่ายทิ้งในแต่ละวัน โดยเทอาหารหรือน้ำแข็งใส่ตะแกรงถังน้ำ และทุกฝ่ายนำเศษอาหารในภาชนะรวมที่จัดเตรียมไว้ และทุกวันคนงานจะนำขยะเศษอาหารดังกล่าวไปใส่ในบ่อปุ๋ย เพื่อดำเนินการทำปุ๋ยหมัก 2.ขยะอันตราย ขยะกำพร้า ตั้งจุดรับขยะอันตราย ขยะกำพร้า ด้านข้างประตูทางเข้าเขตฯ และทางเดินขึ้นอาคาร โดยแต่ละฝ่ายจะนำมาทิ้งตรงจุดนี้ ฝ่ายรักษาฯ จะนำไปคัดแยกเพื่อนำส่งขยะอันตรายทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ขยะกำพร้าจะรวบรวมส่งเดือนละครั้ง 3.ขยะรีไซเคิล ตั้งจุดรับขวดน้ำตามโครงการมือวิเศษ กรุงเทพ แยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด นอกจากบุคลากรในเขตฯ แล้ว ยังมีประชาชนผู้มาติดต่อราชการและประชาชนทั่วไปนำขวดมาบริจาคยังจุดรับ สำหรับปริมาณขยะ (ข้อมูลเดือนมกราคม 2566) ดังนี้ ขยะรีไซเคิล ขวด 170 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย 5 กิโลกรัม/เดือน ขยะเศษอาหาร 17.1 กิโลกรัม/เดือน (จัดเก็บทุกวัน) ขยะกำพร้า 60 กิโลกรัม/เดือน ขยะวน 7 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไป 1,330 กิโลกรัม/เดือน (จัดเก็บทุกวัน) รวมปริมาณขยะทั้งสิ้น 1,589.1 กิโลกรัม/เดือน ปริมาณขยะก่อนคัดแยกขยะภายในเขตฯ มีปริมาณ 2,300 กิโลกรัม/เดือน
เยี่ยมชมสวน 15 นาที บริเวณที่ว่างซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้โรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่สาธารณะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่เขตและภายในชุมชน ปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน ได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ 1.ที่ว่างซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค พื้นที่ 73.6 ตารางเมตร 2.ที่ว่างซอยวชิรธรรมสาธิต 27 ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว พื้นที่ 122.6 ตารางเมตร นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดหาพื้นที่เพื่อจัดทำสวนสาธารณะแห่งใหม่ บริเวณเพลินพระโขนง ซึ่งเป็นบางส่วนเป็นที่ราชพัสดุ ติดถนนสุขุมวิทใกล้กับสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 มีพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา จัดทำเป็นสวนสาธารณะและลานออกกำลังกายกลางแจ้ง และพื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการออกแบบต่อไป
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระโขนง สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)