นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. แจ้งว่า สำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจร รวมถึงเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานอื่นๆ ในด้านคดีอาชญากรรม คดีจราจร และคดีอื่นๆ พร้อมทั้งให้บริการคัดลอกข้อมูลภาพจากระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) แก่ประชาชนและเจ้าพนักงาน โดยให้บริการคัดลอกข้อมูลภาพ 2 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบออนไซต์ (Onsite) เป็นการให้บริการคัดลอกข้อมูลภาพ ผ่านศูนย์กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์ CCTV ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) 2.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตจตุจักร 3.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตบางเขน 4.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตราชเทวี 5.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตห้วยขวาง 6.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตพระโขนง 7.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตบางคอแหลม 8.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตมีนบุรี 9.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตบึงกุ่ม 10.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตบางพลัด 11.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตจอมทอง 12.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตบางบอน และ 13.ศูนย์ CCTV สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ โดยผู้ขอข้อมูลภาพต้องเดินทางมารับภาพเอง และรูปแบบออนไลน์ (Online) โดยแจ้งความประสงค์และดาวน์โหลดข้อมูลภาพ ผ่านทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th หรือทางไลน์ @CCTVBANGKOK ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่งจะส่งไฟล์ข้อมูลภาพภายใน 24 ชั่วโมง โดยผู้ขอข้อมูลภาพไม่ต้องเดินทางมารับภาพ
ทั้งนี้ การขอคัดลอกข้อมูลภาพจากระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั้ง 2 รูปแบบ กรุงเทพมหานครกำหนดให้ผู้ขอคัดลอกข้อมูลภาพต้องยื่นหลักฐาน ประกอบด้วย 1.บันทึกประจำวันหรือหนังสือของสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ 2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ 3.กรณีมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบ และควรดำเนินการขอข้อมูลภาพอย่างเร่งด่วนหลังจากเกิดเหตุ เพื่อป้องกันการไม่ได้รับภาพเนื่องจากการบันทึกภาพทับ
—– (จิรัฐคม…สปส./ณิชา…นศ.ฝึกงาน รายงาน)