(8 ก.พ.66) เวลา 13.00 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
การประชุมในวันนี้ได้จัดขึ้นเพื่อระดมข้อคิดเห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานคร ตามที่มีคำสั่งคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานคร ที่ 1/2566 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนคณะกรรมการวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนากรุงเทพมหานคร 3 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการห้องทดลองเมืองกรุงเทพฯ (Bangkok City Lab) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการวิจัยกรุงเทพมหานคร (Bangkok Research Facilitation) และ คณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่ทดลองปฏิบัติการและโครงการนำร่อง (Bangkok Sand Box and Pilot Project) โดยมีการรวบรวมกลไกการทำงานโดยปรับคณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่ทดลองปฏิบัติการและโครงการนำร่อง (Bangkok Sand Box and Pilot Project) ให้ไปรวมกับคณะอนุกรรมการห้องทดลองเมืองกรุงเทพฯ (Bangkok City Lab) เพื่อความคล่องตัวและลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ ซึ่งจะมีการวัดผลและประเมินผลจากการทดลองเบื้องต้นก่อนนำสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่นำร่อง
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณา เรื่อง การบริหารจัดการแหล่งทุนเพื่อการวิจัยการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยได้หารือและเสนอแนะให้กรุงเทพมหานครควรมีแหล่งทุนเพื่อการวิจัยและการพัฒนาของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้แจ้งแนวทางการเข้าถึงแหล่งทุนจากหน่วยงาน
ภายนอกกรุงเทพมหานครที่มีงบประมาณสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สวสก.) มีงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยที่น่าสนใจในรูปแบบ Research Utilization เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นแหล่งงบประมาณในการวิจัย ซึ่งงานวิจัยต้องผ่านกระบวนในการทดสอบ ทดลองงานวิจัยในขั้นต้นแล้วสามารถ
ของบประมาณเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้
ในส่วนแนวทางการรวบรวมข้อมูล การกำหนดประเภทงานศึกษาวิจัย และรูปแบบการจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร การแก้ไขโจทย์เมืองทั้งในเชิงระบบบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมจากหน่วยงานด้านวิชาการ และสถาบันการศึกษา การศึกษาวิจัยโดยหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร สามารถจำแนกแหล่งที่มาหลักได้ 3 ส่วน คือ 1. ผลการศึกษาทางวิชาการของหน่วยงานที่เกิดขึ้นจากการจ้างที่ปรึกษาและการสนับสนุนทางวิชาการของหน่วยงานหรือองค์กรต่างประเทศ รวมถึงการร่วมศึกษาวิจัยกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนอื่นของประเทศ 2. งานศึกษาและผลงานรุ่นจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหาร
มหานครระดับต่าง ๆ ซึ่งรวบรวมโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร 3. ผลงานนวัตกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เป็นผู้รวบรวมคลังข้อมูลความรู้ (Knowledge Stock) ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบันในรูปแบบ Digital File ให้ครอบคลุม โดยอาจประสานความร่วมมือในการออกแบบการจัดทำฐานข้อมูลกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เพื่อจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยของกรุงเทพมหานคร อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดงานในอนาคต
นอกจากนี้มีการนำเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติของโครงการพัฒนาเมืองโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการวิจัยนวัตกรรมนโยบายและยุทธศาสตร์เมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว 15 นาที ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการที่ขยายผลจากกิจกรรม GREENER BANGKOK HACKATHON 2022 และได้รับทุนสนับสนุนจากแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมคนไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายในการนำแนวคิดและแบบการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสู่การปฏิบัติและบริหารจัดการจริง เชื่อมโยงองค์กร ทรัพยากร และนโยบาย ตลอดจนสร้างฐานข้อมูลเปิดพื้นที่สีเขียวของเมือง พบว่า มีระดับความจำเป็นในการดำเนินการอยู่จำนวน 9 เขต และ กําหนดเป้าหมายในการดำเนินการเร่งด่วน 2 เขต คือ เขตพระโขนง และเขตบางนา
2. โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเกษตรในเมือง เพื่อบูรณาการพื้นที่สุขภาวะพร้อมความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารในเมือง 15 พื้นที่ เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อบูรณาการพื้นที่สุขภาวะ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารในเมือง โดยจะดำเนินการคัดเลือกและดำเนินการในพื้นที่นำร่องจำนวน 10 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งพื้นที่เอกชน/ส่วนบุคคล พื้นที่สาธารณะ ทั้งที่เป็นสวนเกษตรขนาดเล็ก และเป็นแปลงเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีพื้นที่ศักยภาพที่ได้รับจาก สำนักพัฒนาสังคม เพื่อประเมินความเหมาะสมและความพร้อมของพื้นที่แล้วจำนวน 15 พื้นที่ ใน 14 เขต
3. โครงการแผนพัฒนา “ย่านน่าอยู่พระโขนง – บางนา” เป็นการต่อยอดจากโครงการฟื้นย่านพระโขนง-บางนา ที่ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายในการสร้างแผนการพัฒนาย่านที่มีการกำหนดทิศทางร่วมและ
บูรณาการการทำงานจากหลากศาสตร์และหลายภาคส่วน รวมถึงสร้างกลไกกลาง ในการขับเคลื่อนโครงการและแผนพัฒนาไปสู่การปฏิบัติผ่านความร่วมมือรูปแบบจตุรภาคี (4Ps) มีพื้นที่นำร่องอยู่ที่ย่านพระโขนง บางนา ซึ่งเป็นพื้นที่ในขอบเขตของสำนักงานเขตพระโขนง สำนักงานเขตบางนา สำนักงานเขตคลองเตย สำนักงานเขตวัฒนา สำนักงานเขตสวนหลวง และสำนักงานเขตประเวศ ซึ่งจะมีการทดลองใช้กลไกจตุรภาคีในการพัฒนาระดับพื้นที่ ผ่านการบูรณาการงานร่วมกับโครงการเพิ่มพื้นที่สวน 15 นาที และโครงการเกษตรในเมืองต่อไป
การประชุมวันนี้มี นายต่อศักดิ์ โชติมงคลประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิฑูรย์ อภิสิทธิ์ภูวกุล รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล พร้อมคณะผู้บริหารจากสำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักอนามัย สำนักการศึกษา สำนักงานเขต และหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและ
นวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หน่วยบริหารและจัดการกองทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC)
#บริหารจัดการดี
_________________________________